“กมธ.พ.ร.ก.กู้เงิน” สภาฯ จ่อเสนอ “นายกฯ” ออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน

“กมธ.พ.ร.ก.กู้เงิน” สภาฯ จ่อเสนอ “นายกฯ” ออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน

ประธานกมธ.ติดตามพ.ร.ก.กู้เงิน3ฉบับ เผยสัปดาห์หน้าจะขอมติกมธ.เพื่อส่งข้อเสนอแนะไปยัง นายกฯ ให้ออก พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน หลังเนื้อหาไม่สอดคล้องสถานการณ์ จ่อเสนอ พ.ร.บ.แก้พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เข้าสภาประกบ ร่างแก้ไขของฝ่ายค้าน

    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าตนได้นัดประชุมกมธ. ในวันที่ 20 มกราคม เพื่อขอมติต่อการเสนอความเห็นไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ใช้อำนาจออก พ.ร.ก. เพื่อแก้ไข  พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ.2563 (ซอฟท์โลน)  หลังจากพบว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ในข้อเสนอดังกล่าวนั้นเป็นการหารือร่วมกันของตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.), ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่าการดำเนินการตามพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวยังมีปัญหา แม้หน่วยงานจะปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังมีปัญหาทางข้อกฎหมาย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะช่วยเหลือด้านการแก้ไขกฎหมาย

    “เหตุผลที่กมธ.ฯ เสนอเรื่องนี้ไปยัง นายกฯ​เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และหากนายกฯ​เห็นด้วยออกพ.ร.ก.เพื่อแก้ไขแทนจะใช้กระบวนการของสภาฯ ที่ออกเป็นพระราชบัญญัติ จะทำให้การแก้ไขรวดเร็ว โดยภายในเดือนมีนาคม หรือ เมษายน สามารถปรับปรุงได้ แต่หากใช้ขั้นตอนของสภาฯ อาจมีขั้นตอนที่ใช้เวลาเกือบปีถึงจะสำเร็จและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้” นายไพบูลย์ กล่าว 
    นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่านอกจากนั้นกมธ. ที่ประกอบด้วยตัวแทนของทุกพรรคการเมือง ยังมีความเห็นต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ). เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนและเตรียมลงมติเพื่อนำเสนอให้ประธานสภาฯ เช่นเดียวกัน เพื่อแก้ไขในรายละเอียดที่เป็นเหตุขัดข้องต่อการช่วยเหลือประชาชน 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับแนวความคิดเพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน นั้น มีหลายพรรคการเมืองที่เห็นด้วย และได้ยื่นร่างแก้ไข โดยล่าสุดส.ส.ของพรรคก้าวไกล คือ  นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ได้ยื่นเนื้อหาเพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ผ่านนพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษา 
    ทั้งนี้ในสาระของร่างพ.ร.บ.เพื่อแก้ไขพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวของพรรคก้าวไกล มีสาระสำคัญ คือ ให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ และให้ธปท.​กันวงเงินสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐ และเป็นธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี,  เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ,  เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร และเพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหาย กรณีหนี้เสียจากเดิมร้อยละ  60-70 เป็นไม่เกินร้อยละ 80 
    อย่างไรก็ตามในวาระการประชุมของสภาฯ ยังมีร่างแก้ไขพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว บรรจุรอพิจารณาอีก 3 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และคณะ, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และคณะ และ นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพือไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ.