ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์ขายสินค้าเจาะความเชื่อผู้บริโภค
จะกี่ยุคสมัย จะเพศหญิงหรือชาย จะอายุมากหรือน้อย ทุกคนต่างมี “ความเชื่อ” มีสิ่งที่ตนเองศรัทธา เมื่อสิ้นศักราชเก่า เข้าสู่ปีใหม่ หนึ่ในสิ่งที่ประชาชนคนไทยสนใจใคร่รู้คือเรื่องของ “โหราศาสตร์” โชคชะตาราศีของแต่ละคนในปีนั้นๆจะเจอเรื่องราวดีร้ายอย่างไร
บางคนดูดวงแล้วเชื่อหมดใจ บางรายอาจเป็นเข็มทิศ ช่วยไกด์ไลน์ชีวิตไม่ให้เป๋ซ้ายไถลไปขวามากเกินไป ขอใช้ชีวิตดีๆบนทางสายกลาง แต่โลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความ “ไม่แน่นอน” จึงต้องมีกลยุทธ์เด็ดๆ มาเจาะกลุ่มเป้าหมาย
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(ซีเอ็มเอ็มยู) จัดเสวนาหัวข้อ “Marketing in the Uncertain World : การตลาดของคนอยู่เป็น” มีหลากกูรูการตลาดมาแชร์ไอเดีย หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการเผยพฤติกรรมของคนไทย การพลิกแพลงกลุทธ์การตลาดของผู้ทรงอิทธิพลหรืออินฟลูเอ็นเซอร์หมอดูชื่อดัง ณฐอร นพเคราะห์ หรือ หมอดูต๊อกแต๊ก เล่าศาสตร์ศรัทธาการตลาดหรือ Faithful Marketing เมื่อแบรนด์ติดอาวุธเจาะผู้บริโภคสายมู(Mutelu)ปิดการขาย
สตาร์ทต้นปี สิ่งที่ผู้บริโภคสนใจเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ โชค ชะตาชีวิต หนีไม่พ้น “ปีชง” ของแต่ละราศี และวิธีแก้ไขเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิต ทว่า ปีก่อนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน “โควิด-19” ที่ระบาดต่อเนื่อง ทำให้ความสนใจของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมอยากรู้เรื่องของ “หัวใจ” จะมีรัก สมหวังหรือรับประทานแห้ว แต่ไวรัสร้ายทำให้เรื่องปากท้องมาแรงแซงความรัก
“เคยศึกษาอินไซต์ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ติดตามคอนเทนท์ดวงชะตาราศีผ่านแฟนเพจ อินสตาแกรมของ toktak_a4 มักจะโฟกัสเรื่องความรัก พอโควิดมา ทุกคนโฟกัสเรื่องเงินและงาน สะท้อนความต้องการอยู่รอด โดยกังวลว่าจะมีงานทำ ตกงานหรือไม่ รับแพ็คเกจชดเชยแล้วนำเงินไปลงทุนดีหรือไม่”
นอกจากนี้ ทามกลางวิกฤติไวรัสระบาด ยังพบผู้บริโภคต้องการรู้อนาคต อยากดูวงมากขึ้น เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ “นักการตลาด” ต้องเกาะติดเทรนด์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ “สินค้าและบริการ” เริ่มนำอินฟลูเอ็นเซอร์หมอดู พึ่งการตลาดสายมูเตรูเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ปิดปี 2563 หมอดูต๊อกแต๊ก มีแบรนด์สินค้ามาผนึกกำลังหรือ Collaboration ทำตลาดด้วยมีเกือบ 20 แบรนด์ แต่เดือนมกราคม 2564 เดือนเดียวลูกค้าเข้ามาเกือบ 5 แบรนด์แล้ว ซึ่งแบรนด์เองต้องการพลิกแพลงกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ๆด้วย
สำหรับลูกค้าเก่าและใหม่ที่ทำตลาดผ่านความเชื่อ เช่น ลาซาด้า, รองเท้าฟิตฟลอบ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, แกร๊บฟู้ดและไก่ย่างห้าดาว ฯ ซึ่งจะร่วมกันสร้างสรรค์คอนเทนท์ด้านโชคชะตาเพื่อเอนเกจกับแบรนด์ ตัวอย่าง เมนูอาหารที่เหมาะกับแต่ละราศี ซื้ออาหารแล้วได้ดูดวงกับหมอดูต๊อกแต๊ก ลิปสติกสีไหนเหมาะกับราศีใด ดูดวงการลงทุนให้กับผู้สนใจเป็นพาร์ทเนอร์ไก่ย่าง 5 ดาว เป็นต้น ซึ่งแบรนด์มีทั้งการเป็นสปอนเซอร์ การทำป๊อปอัพคอนเทนท์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
แม้หมอดูจะเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ให้ผู้บริโภคช่วงวิกฤติ หรือเศรษฐกิจดี แต่ผลกระทบโควิดก็ลามถึงนักโหราศาสตร์เช่นกัน โดย หมอดูต๊อกแต๊ก บอกว่าปกติจะไม่รับดูดวงให้ลูกค้ามากนักเฉลี่ย 3-4 คนต่อวัน เดิมดูตัวต่อตัวได้ แต่ปัจจุบันต้องดูผ่านออนไลน์ แต่ทุกวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่ แม้จะเดินทางพบปะลูกค้าโดยตรงไม่ได้ แต่ “ออนไลน์” กลายเป็นประตูเปิดรับลูกค้าแบบไร้พรมแดน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งจากสหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ที่ต่อคิวใช้บริการ
ปัจจุบันไม่ใช่แค่วงการธุรกิจ การตลาดต้องปรับตัวรับความไม่แน่นอน แต่แวดวงนักโหราศาสตร์ ที่การแข่งขันสูงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน หมอดูต๊อกแต๊ก ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตัวเองหรือทำ SWOT Analysis จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค จุดยืนของตนเองคืออะไร และพัฒนาให้แข็งแกร่งขึ้น และที่ขาดไม่ได้ต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคเชิงลึก(insight) ผ่านฐานแฟนคลับบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมที่หลายแสน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน 25-34 ปี ผู้หญิงและคนเมือง ส่องสถิติจาก Google Analytics ฯ เพื่อนำไปวางกลยุทธ์สร้างสรรค์คอนเทนท์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงต่อยอดให้กับแบรนด์สินค้าและบริการที่เข้ามาร่วมงานไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนคงอยู่ตลอดไป หมอดูต๊อกแต๊ก แนะการทำตลาดต้อง “ปรับตัว” ตลอดเวลา อ่าน SWOT ตัวเองให้แม่น ศึกษาอินไซต์ผู้บริโภคตลอด เพื่อให้ปิดการขายและอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโควิดระลอกใหม่
“ดวง ความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ช่วยจัดการความไม่แน่นอนได้ แต่ทุกอย่าง แต่ละคนคือคนกำหนดเองว่าจะเดินไปทิศทางไหน”