วิจัยรีแบรนด์ 'ทุเรียนไทย' สู่การค้าพรีเมียม
"ทุเรียนไทย" สินค้าเกษตรสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย และครองแชมป์การส่งออกอันดับหนึ่ง ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 แม้สินค้าเกษตรอื่นจะมีทิศทางการส่งออกที่ลดลง แต่กลับไม่ได้สะเทือนกลุ่มนี้ ซึ่งโจทย์สำคัญคือ จะเพิ่มมูลค่าหรือพัฒนาให้เป็นสินค้าพรีเมียมได้อย่างไร
จากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เมื่อ ธ.ค.2562 จนถึง ม.ค.2564 ประเทศไทยและทั่วโลกยังวนเวียนอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอย่างต่อเนื่อง
แต่ในวิกฤติยังมีโอกาสที่จะเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจากติดตามสถานการณ์ พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ที่พอดำเนินการได้ แม้จะมีปริมาณการส่งออกที่ลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก ตรงข้ามกับ “ทุเรียน” ที่สามารถส่งออกให้ต่างชาติได้ลิ้มรสความหอมหวานไม่มีตก โดยข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ยังครองแชมป์เป็นประเทศผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยทุเรียนมีสัดส่วนในการส่งออกถึงร้อยละ 69 ของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย โดยในช่วงครึ่งปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก มูลค่า 1,411 ล้านดอลลาร์
นอกจากสถานการณ์จากรายงานของหน่วยงาน มีเสียงสะท้อนจากพื้นที่และผู้ประกอบการ โดยนายกเทศมนตรีนครยะลา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ แสดงความต้องการองค์ความรู้ นวัตกรรมการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านกับสื่อมวลชน ผ่านเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการงานวิจัยประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SRI 13) ที่มี ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เป็นผู้ประสานงานของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1) สกว. (เดิม) บอกกล่าวว่า
ทุเรียนพื้นบ้านของยะลามีหลายสายพันธุ์ แต่เป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบทุเรียน ในช่วงที่ผ่านมา มีเพียงแค่ “มูซังคิง” หรือที่คนจีนเรียกว่า “มาวซานหวาง” ซึ่งน่าเสียดายกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ว่าเป็นทุเรียนของมาเลเซีย ทั้งที่ความเป็นจริง "มูซังคิง” เป็นทุเรียนพื้นบ้านที่มีการปลูกทั้งในเขตประเทศไทยและมาเลเซียด้วย ต่างกันที่มาเลเซียเขาส่งเสริมการปลูกมากกว่าประเทศไทย
นอกจากมาวซานหวาง ปัจจุบัน ทุเรียนพื้นบ้านของยะลากำลังเป็นที่นิยมอีก 3 พันธุ์ คือ 1.พันธุ์โอฉี หรือหนามดำ ที่ว่ากันว่าจะมาเป็นคู่แข่งหมอนทองระดับพรีเมียม และเป็นอีกพันธุ์ที่ไปโด่งดังในมาเลเซีย ทั้งที่ทุเรียนโอฉีมีต้นกำเนิดจากยะลา แต่มาเลเซียนำไปปลูกและนำไปประกวดในงานมหกรรมผลไม้ที่มาเลเซียได้แชมป์ติดกันถึง 5 ปีซ้อน เพราะเนื้อจะมีสีเหลืองอมส้ม ผิวเนียนละเอียด รสชาติหวานออกมัน สำหรับปี 2563 โอฉีมีราคาแพงกว่ามูซังคิงและต้องสั่งจองกันล่วงหน้าในอัตรากิโลกรัมละ 750 บาท ขณะที่มูซังคิงกิโลกรัมละ 550 บาท
2.พันธุ์ยาวลิ้นจี่ ที่มีอยู่ต้นเดียวใน อ.เบตงและในประเทศไทย ลักษณะคือเนื้อสีเข้ม เนื้อมัน เนียนละเอียด ซึ่งปี 2563 ขายลูกละ 2,500 บาท ส่วนต้นกล้าพันธุ์ที่เจ้าของเพาะขายต้นละประมาณ 1,500 บาท ซึ่งเจ้าของแทบไม่ได้ขายลูกเลย และสายพันธุ์ที่ 3 คือ โกลเด้น ฮาร์ท เป็นทุเรียนที่ชนะการประกวดทุเรียนพื้นเมือง เพราะพูเป็นรูปหัวใจ สีออกเหลือง แต่ไม่เข้มมาก เนื้อจะมีความพิเศษคือเนียนและมันมาก ซึ่งทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้กำลังถูกผลักดันให้จดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเป็นสิ่งที่ยะลาอยากจะให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป
ความต้องการของพื้นที่ตรงกับงานวิจัยเดิมที่ สกสว.ให้ทุนการวิจัย (บทบาทเก่า) เพราะนอกจากทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ ที่กลายเป็นดาวเด่นของความนิยมที่กล่าวในข้างต้น ยังมีทุเรียนพื้นบ้านอีกกว่า 300 สายพันธุ์ที่เป็นโจทย์ให้ รศ.จรัสศรี นวลศรี คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือในฐานะโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านจังหวัดยะลา” ได้ศึกษา
และจากการเก็บข้อมูลพบว่ายะลาเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่เป็นที่รู้จักของคนในประเทศ อีกทั้งจังหวัดให้ความสำคัญกับทุเรียนประกาศนโยบายให้ยะลาเป็น Durian city หรือเมืองแห่งทุเรียน ยะลามีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 30,000 กว่าไร่ สายพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกมากที่สุดคือพันธุ์หมอนทอง รองลงมาคือก้านยาว ชะนี และทุเรียนพื้นบ้าน
จากข้อมูลที่มี ทีมวิจัยสามารถนำมาออกแบบวิธีการวิจัยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกคัดเลือกทุเรียนพื้นบ้านที่อัตลักษณ์ดี รสชาติดี เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ยกระดับเป็นพันธุ์การค้าในอนาคต ซึ่งพบว่าในยะลามีทุเรียนแบบนี้ซุกซ่อนอยู่มาก เพราะจากการคัดที่เราคัดด้วยรูปร่างหน้าตา ด้วยสี และรสชาติดี แต่หลังจากนั้นเราต้องส่งไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการในเชิงลึกเพื่อเป็นข้อมูลการสนับสนุนพันธุ์เหล่านั้น
ส่วนต่อมาคือการช่วยเหลือด้าน ส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ ที่ปัจจุบันการซื้อ-ขายออนไลน์เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย แม้แต่ชาวบ้านก็คุ้นเคย เพียงแต่งานวิจัยจะช่วยให้เข้าถึงการขายได้มากกว่าเดิมผ่านการอบรม และส่วนสุดท้ายคือการนำความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกมาถ่ายทอดให้เกษตรกร เพื่อทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ความมั่นคง เพราะเกษตรกรจะเป็นคนสื่อสารให้รู้ว่าในมือของเขามีสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ
ที่สำคัญงานวิจัยกำลังไปสู่จุดเปลี่ยนของการปลูกทุเรียนพื้นบ้านให้ควบคุมลำต้นไม่ให้สูงมากเพื่อเอื้อต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และไปสู่แนวทางอนุรักษ์สายพันธุ์ เพราะทุเรียนพื้นบ้านคือรากฐานของทุเรียนพันธุ์การค้า และเป็นหลักประกันในอนาคต หากเกิดโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกับทุเรียนพันธุ์การค้า ทุเรียนพื้นบ้านจะเป็นพันธุกรรมให้มีการปรับปรุงต่อไป
ดังนั้น หากพบทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ลักษณะดี ต้องรีบขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ตอนนี้ที่มีบันทึกอยู่ในบัญชีไว้ประมาณ 300 สายพันธุ์ แต่ยังเก็บมาปลูกได้ไม่หมด ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ในทั้งหมดนั้นต้องคัดออกมาอีกเฉพาะที่มีศักยภาพ และจากการดำเนินการมาเกือบ 2 ปี ทีมวิจัยมั่นใจว่ามีทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นพันธุ์การค้าประมาณ 30 สายพันธุ์
และทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ “การพัฒนาทุเรียนไทย” ในประเด็นท้าทายของประเทศภายใต้โจทย์และแผนด้าน “การวิจัย” ที่ดี ให้ทุเรียนไทยไปไกลกว่า “จีน”