‘อาร์เอส’รุกสินเชื่อ-ทวงหนี้ แบงก์แห่ขาย“เอ็นพีแอล”ไตรมาส1/64คึก
“อาร์เอส” แตกไลน์ธุรกิจใหม่ “บริหาร ติดตามทวงหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล” ทุ่มเฉียดพันล้าน ซื้อหุ้น “เชฎฐ์ เอเชีย” คาดทำดีลเสร็จก.พ.นี้ ด้านบริษัทรับซื้อหนี้คึกคักรับต้นปี แบงก์แห่ขายหนี้พุ่ง หลังหนี้เสียพุ่งไม่หยุด เจเอ็มที-ชโย ตุนเงินงบรองรับซื้อหนี้
นายวิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)หรือ RS เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัท อนุมัติให้บริษัทย่อย คือ บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์ จำกัด (RSX) เข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (Chase) จำนวน 2.74 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 35 %ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดของ Chase ภายหลังการเพิ่มทุน คิดเป็นมูลค่า 920 ล้านบาท
ปัจจุบัน Chase เป็นผู้ถือหุ้น99.99% ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย (CF Asia) บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด (R-WAY)และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) (Courts) ดังนั้นการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Chase โดย RSX จึงจะทำให้บริษัทฯ เข้าเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าการเข้าทำรายการจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ 2564
สำหรับChase ประกอบธุรกิจหลักในการทวงถามหนี้ ดำเนินคดี และบังคับคดี, CF Asia ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , R-Way ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.และ Courts ซึ่งประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯ
นอกจากนี้ บอร์ดบริษัทอนุมัติให้เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน RSX ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยเงินเพิ่มทุนดังกล่าว RSX จะนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Chase โดยบริษัทจะกู้เงินระยะยาวจาก KBANK จำนวนไม่เกิน 1 พันล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR ลบด้วยร้อยละคงที่ตามสัญญา
สำหรับการซื้อหุ้นChase เนื่องจากบริษัท เล็งเห็นว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูงทั้งในภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองและถดถอย
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า สำหรับปี 2564 แม้ผ่านมาเพียงครึ่งเดือน แต่ก็พบว่าธนาคารพาณิชย์ มีการส่งจำหมายเรียนเชิญให้บริษัทเข้าประมูลซื้อเสียมาบริหารคึกคักตั้งแต่ต้นปี โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดใหญ่ และเล็ก มีการยื่นให้บริษัทเข้าประมูลหนี้แล้วราว 3 ธนาคารมูลหนี้ราว 4-5 พันล้านบาท
โดยสาเหตุที่แบงก์ที่มีการยื่นให้เข้าประมูลหนี้ตั้งแต่ต้นปี เชื่อว่า เพราะแบงก์เห็นสถานการณ์จากผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นในการเก็บหนี้เสียไว้ในพอร์ต
อีกทั้งเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต และเพื่อให้แบงก์มีความสามารถในการรองรับหนี้เสียใหม่ที่จะเข้ามาในปี2564 ได้เพิ่มขึ้น
ส่วนแผนการดำเนินงานปี 2564 นี้บริษัทตั้งเป้า รักษาการเติบโตจากผลการดำเนินงานไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 30% ในปีนี้ต่อเนื่อง จากปี 2563 ที่บริษัททำผลงานได้เกินเป้าหมาย จากหนี้ที่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี หากเทียบกับอดีต ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้น
สำหรับงบการลงทุนในการรองรับการซื้อหนี้เสียปีนี้ บริษัทตั้งเป้าใช้งบราว 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีก่อนเท่าตัว ที่ใช้งบลงทุนในการซื้อหนี้เสียมาบริหาร ราว3 พันล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มหนี้เสียมีเพิ่มขึ้นในตลาดเกินที่คาด บริษัทคาดว่า จะสามารถเพิ่มงบลงทุนได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 10,000 ล้านบาท จากกระแสเงินสดที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ปัจจุบันพอร์ตหนี้เสียภายใต้พอร์ต JMTอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีแบงก์ราว 4-5 สถาบันการเงิน มีการยื่นหนังสือให้บริษัทเข้าประมูลรับซื้อหนี้เสียไปบริหารแล้วราว 3-4 พันล้านบาท ที่จะเปิดประมูลในช่วงไตรมาสแรกปีนี้
โดยคาดว่าหลังจากนี้จะมีสถาบันการเงิน ยื่นหนังสือให้บริษัทเข้าประมูลหนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มหนี้เสียในระบบมีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน
อีกทั้ง ผลกระทบจากโควิด-19รอบใหม่ เป็นตัวกระตุ้นให้แบงก์ขายหนี้เสียออกมาเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารหนี้เสียได้ง่าย อีกทั้งหากดูคุณภาพหนี้เสียที่ออกมาขาย พบว่าเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี และราคาขายเอื้อสำหรับการซื้อมาบริหารมากขึ้น เพราะราคาขายหนี้ถูกลง ราว 2% หากเทียบกับอดีต ซึ่งทำให้บริษัทประหยัดงบลงทุนในการรับซื้อหนี้เสียได้ค่อนข้างมาก
สำหรับการตั้งงบลงทุนในการซื้อหนี้เสียมาบริหารปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนอยู่ที่ราว 1,200ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการซื้อหนี้เสียใหม่มาบริหารได้ราว 10,000 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทใหม่ เพื่อตั้งบริษัท ชโย เจวี จำกัด หรือ CHAYO JV ขึ้นมา โดยชโย ถือหุ้น 55% และผู้ถือหุ้นใหม่ 45%
. ซึ่งคาดว่าหากสำเร็จภายในไตรมาสแรกปีนี้ จะทำให้บริษัทได้งบลงทุนเข้ามารับซื้อหนี้เสียอีก 1.6 พันล้านบาท ทำให้งบลงทุนรวมในการซื้อหนี้เสียปีนี้เพิ่มเป็น 2.6 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีความสามารถซื้อหนี้เสียเพิ่มได้เกือบ2หมื่นล้านบาทในปีนี้ ทำให้คาดผลการดำเนินงานปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 25% ทั้งนี้ปัจจุบันหนี้เสียภายใต้บริหารอยู่ที่ 6.3หมื่นล้านบาท
“เราเชื่อว่าปีนี้เป็นจังหวะของเรา ในการซื้อหนี้มาบริหาร หากไม่ทำอะไรหนี้เสียก็จะหายไปเฉยๆ ดังนั้นก็เป็นโอกาสของชโย ในการซื้อหนี้เสียมา และเก็บเกี่ยวต่อเนื่องไป 3-4 ปีข้างหน้าได้สบาย”