ปตท.ชู ‘OR‘ เรือธงธุรกิจค้าปลีก ‘อรรถพล’ ยืนยันกระจายหุ้นถึงมือรายย่อย
“อรรถพล” วางกลยุทธ์ “โออาร์” เรือธงธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ระดมทุนต่อยอด 3 ธุรกิจ หวังเพิ่มสัดส่วน EBITDA ธุรกิจ Non-Oil ธุรกิจต่างประเทศ มากขึ้น ดันบทบาทโฮลดิ้งของ ปตท.ให้ครบเครื่อง ยืนยันกระจายหุ้นให้ถึงมือนักลงทุนรายย่อย
บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ ที่ 16-18 บาท และจะเริ่มเปิดให้รายย่อยจองซื้อได้ในวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ.2564 ก่อนที่จะให้ผู้ถือหุ้น ปตท.และนักลงทุนสถาบันจอง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจในการจองหุ้นจำนวนมาก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า แผนยุทธศาสตร์ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จะเป็นบริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม ปตท.ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ขนาดธุรกิจของโออาร์ในปัจจุบันมียอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจของโออาร์ ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ
1.ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งครอบคลุมการค้าน้ำมันในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ เช่น การขายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง การขายน้ำมันให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การขายน้ำมันหล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยทั้ง 2 ตลาด มียอดขายใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายผ่านสถานีบริการ (ปั๊ม) น้ำมัน และตลาดพาณิชย์ อยู่ที่อย่างละประมาณ 9,000 ล้านลิตร ทำให้ในส่วนของธุรกิจน้ำมัน ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเป็นอันดับที่ 1
2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น (Non-Oil) ครอบคลุมร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนที่ยังเป็นพระเอก มีสาขาในประเทศกว่า 3,000 แห่ง และแบรนด์ร้านค้าปลีกอื่นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการให้บริการเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่สามารถสร้างกำไรให้ได้พอสมควร
3.ธุรกิจต่างประเทศ ครอบคลุมปั๊มน้ำมันอยู่ในต่างประเทศกว่า 300 แห่ง ใน 4 ประเทศ และมีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน 270 แห่งในหลายประเทศ และจะเป็น 3 ธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของโออาร์
สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่ได้หลังจากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของโออาร์ จะนำไปใช้ต่อยอดการลงทุนขยายการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก แต่จะมุ่งเน้นขยายการเติบโตในส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบัน โออาร์ มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจน้ำมันประมาณ 69% ธุรกิจ Non-Oil สัดส่วน 25% และธุรกิจต่างประเทศ ประมาณ 6%
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบโออาร์กับธุรกิจที่คล้ายกันก็จะเห็นว่าตัวธุรกิจ Non-Oil มี EBITDA สัดส่วน 25% ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นจุดเด่นเพราะธุรกิจ Non-Oil มีมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจน้ำมัน ซึ่งในอนาคตสัดส่วน EBITDA ของ ธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ จะต้องเติบโตเพิ่มขึ้น
โดยในช่วง 5 ปี มีร้านคาเฟ่อเมซอน มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น 400 แห่งต่อปีในประเทศ และขยายสาขาเพิ่มในต่างประเทศอีก 300 แห่ง หรือเฉลี่ยปีละ 60-70 แห่ง ขณะที่ปั๊มน้ำมัน จะขยายสาขาเพิ่มประมาณ กว่า 100 แห่ง
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil เริ่มมีการทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) เช่น การเข้าไปถือหุ้นในบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ซึ่งเป็นบริษัทบริการด้านโลจิสติกส์จัดส่งพัสดุ อันดับ 3 ของประเทศ และเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่จำหน่ายเครื่องชงและอุปกรณ์กาแฟแบรนด์ “พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์” (Pacamara Coffee Roasters) และยังมีอีกหลายดีล M&A ที่อยู่ในมือซึ่งจะทยอยเปิดเผยความชัดเจนออกมาต่อเนื่อง
ส่วนการจัดสรรหุ้นของโออาร์ ถือเป็นความตั้งใจหลักของกลุ่ม ปตท.ที่ต้องการกระจายหุ้นของโออาร์ให้ถึงมือรายย่อยหรือผู้บริโภคทั้งที่เป็นลูกค้าหลักและไม่ใช่ลูกค้าของกลุ่ม ปตท. รวมถึงคนไทยทุกคนก็มีสิทธิเป็นเจ้าของหุ้นโออาร์ได้เช่นกัน
ฉะนั้นจะเห็นว่าการขายหุ้นของโออาร์จะถูกกำหนดให้จัดสรรหุ้นไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะไม่มีกลุ่มบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จะได้รับการจัดสรรหุ้นโออาร์
ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายย่อยนั้น จะเห็นว่า ได้ใช้วิธีกระจายให้มากที่สุด หรือ Small Lot First ซึ่งเป็นการจองซื้อน้อยได้รับการจัดสรรก่อน โดยสามารถเริ่มจองขั้นต่ำ 300 หุ้น และจะจัดสรรให้ผู้จองซื้อแต่ละรายในรอบแรก 300 หุ้น ส่วนรอบถัดไปรอบละ 100 หุ้นจนกว่าหุ้นจะหมด
ทั้งนี้นักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2563 ถึง เวลา 12.00 น. ของวันที่ 2 ก.พ. 2563 ดังนั้นคนไทยทุกคนที่เข้าจองซื้อหุ้นโออาร์มีโอกาสได้รับการจัดสรรหุ้นแน่นอน ถือเป็นคอนเซ็ปต์การกระจายหุ้นที่ต้องการให้คนไทยได้ถือหุ้นมากที่สุด
ส่วนหุ้นที่กระจายสู่นักลงทุนสถาบัน ประมาณ 70-80% เป็นสถาบันไทยและกองทุนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปถือในกองทุนเหล่านั้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าหุ้นโออาร์จะกระจายสู่มือคนไทยหลายล้านคน ขณะที่ช่วงราคาหุ้น อยู่ที่ 16-18 บาท ถือว่าเป็นระดับราคาที่จูงใจ ภายใต้หลักการที่ผู้ถือหุ้นจะต้องเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของโออาร์
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่มปตท.มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งโออาร์ แยกธุรกิจออกไปจาก ปตท.ก็จะเป็นอีก Flagship ที่สร้างสีสัน และการระดมทุนที่ได้เม็ดลงทุนเพิ่มเข้ามาก็จะเอื้อให้โออาร์มีเงินลงทุนขยายธุรกิจได้มากขึ้น
อีกทั้ง ปตท.ยังถือหุ้นในโออาร์ กว่า 70% ซึ่งการนำโออาร์ เข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ ก็จะเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับโออาร์ แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วน Flagship อื่นก็จะมีแผนการเติบโตที่แตกต่างกันตามสภาพของแต่ละธุรกิจ และ ปตท.ก็จะกลายเป็นโฮลดิ้งที่มีความหลากกลายของธุรกิจครบเครื่องมากขึ้น ทั้งธุรกิจต้นน้ำ เริ่มจากธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซ และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น