เมื่อโลกโซเชียล ไม่เหลือที่ยืนให้ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ I Digital of Things
เมื่อกติกาของโลกสมัยใหม่ไม่มีที่ยืนให้กับผู้ก่อให้เกิดความรุนแรง อ่านหลายเหตุผล ที่ผู้บริหาร Platform โซเชียลมีเดีย พากันลงดาบแบน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’
วันที่ 20 ม.ค. 64 นายโจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตามประเพณีที่ทำต่อเนื่องกันมาอย่างช้านาน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภา ก่อความวุ่นวาย สร้างความเสียหายและอับอายให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นผู้นำของโลกและพี่ใหญ่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างใหญ่หลวง เหตุการณ์ถึงแม้จะดูใหญ่โตแต่ด้วยระบบ ระเบียบ สามัญสำนึก การเคารพในกติกา รู้จักหน้าที่ตนเองของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งที่สนับสนุนทรัมป์และไม่สนับสนุน ก็ทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างสงบลงภายในชั่วข้ามคืน
- Twitter, Facebook, Instagram และ Youtube ยกเลิกและห้าม ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใช้งานตลอดชีวิต
การประท้วงของกลุ่มผู้สนับสนุน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เริ่มขึ้นหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับนายโจ ไบเดน ผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในเดือน พ.ย. และรุนแรงขึ้นในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา
สาเหตุหลักอยู่ที่การปราศรัยของทรัมป์บริเวณใกล้ๆ ทำเนียบขาวที่กล่าวหาว่านายไบเดน โกงการเลือกตั้งและส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อยับยั้งการรับรองผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลงภายในวันเดียว แต่ต่อมาทรัมป์ก็ยังได้โพสต์ Facebook ทวีตข้อความทาง Twitter ส่วนตัวและใช้การสื่อสารบนโลกโซเชียลไปยังผู้สนับสนุนของตนในแบบที่ไม่รู้สึกผิด และไม่ได้แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผ่านมา
ทำให้ผู้บริหาร Platform ทั้ง Twitter , Facebook, Instagram และ Youtube ได้ดำเนินการปิดกั้นการใช้งานของทรัมป์อย่างไม่มีกำหนด หรืออย่างน้อยจนกว่าการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายโจ ไบเดน จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาเมื่อทาง Platform ต่างๆ เห็นท่าทีและปฎิกริยาที่ไม่รู้สึกถึงปัญหาที่ตนเองได้ก่อขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยของทรัมป์ ผู้บริหาร Platform ออนไลน์ต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะยกเลิกและห้ามไม่ให้ทรัมป์ใช้งาน Platform บนโซเชียลอย่างถาวร
- เหตุผลของ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Facebook
หนึ่งในผู้บริหาร Platform ออนไลน์ ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด ได้โพสต์ข้อความบน Facebook ของตนเอง กล่าวในเชิงตำหนิทรัมป์ที่ใช้ Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารในลักษณะที่จะไม่เอาผิดผู้ชุมนุม ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ยังบอกต่อว่าการกระทำเช่นนี้ของทรัมป์จะก่อให้เกิดความรุนแรงและขายหน้ามาสู่สังคมอเมริกัน ทำให้ Facebook ตัดสินใจลบข้อความของทรัมป์ทั้งหมด พร้อมทั้งชี้แจงเพิ่มเติมว่าในห้วงหลายปีที่ผ่านมา Facebook อนุญาตให้ทรัมป์ใช้ “Platform ของเรา บนกติกาของเรา” ซึ่งหลายครั้ง Facebook ก็มีการเซนเซอร์ข้อความที่ละเมิดนโยบายของ Facebook แม้ในขณะที่ทรัมป์ ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ตาม
โดยนโยบายของ Facebook นั้น ปกติจะอนุญาตให้มีการพูดหรือแม้แต่ถกเถียงกันทางการเมืองได้ เพราะเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรื่องใดๆ ก็ตามเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ แต่ในกรณีของทรัมป์ที่ผ่านมานั้น มันเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกและความวุ่นวาย สนับสนุนให้เกิดการจราจลขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบอบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา จึงถึงว่าเป็นการกระทำที่ผิดนโยบายและกติกาของ Facebook อย่างชัดเจน และนี่คือเหตุผลที่ทรัมป์ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งาน Facebook อีกต่อไป
- เหตุผลของ Twitter.Inc. (ทวิตเตอร์ อิงค์) เจ้าของ Twitter
Twitter เป็นอีกหนึ่ง Platform ที่ไม่อนุญาตให้ทรัมป์ใช้บริการอีกต่อไป โดยออกแถลงการณ์ภายหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ม.ค. 64 ว่า หลังจากที่ได้ตรวจสอบการใช้งานของสมาชิกที่ใช้ชื่อ @realDonaldTrump แล้ว ทางบริษัทได้ตัดสินใจระงับการใช้งานของสมาชิกดังกล่าวถาวร เนื่องจากกังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และ Twitter ก็ยกเลิกการใช้งานของสมาชิกดังกล่าวทันที
ไม่ใช่แต่เพียง Facebook และ Twitter แต่ Platform ต่างๆ ก็มีการแบนหรือห้ามทรัมป์ใช้งาน เช่นกรณีของ Youtube ที่ทรัมป์มีรายการของตนเองที่ชื่อ Donald Trump’s Channel ซึ่งก็โดนระงับการออกอากาศอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และจะพิจารณาการขยายการระงับอีกครั้งในภายหลัง พร้อมๆ กับการปลดคลิปที่เกี่ยวกับทรัมป์ทั้งนั้นที่จะส่งไปในทางยุยง หรือก่อให้เกิดความรุนแรง
- Platform ของเรา บนกติกาของเรา
คำพูดที่ ซักเคอร์เบิร์ก ใช้เป็นเหตุผลในการระงับการใช้งานบน Facebook ของทรัมป์ ไม่ใช่แค่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้บริหารและผู้ก่อตั้งแต่ยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของกติกาและกฏเกณฑ์สมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน ที่คนทั้งโลกติดต่อสื่อสาร พูดคุย ใช้งานบน Platform เดียวกัน ดังนั้นกติกาที่ใช้กันจึงเป็นกติกาที่คนทั้งโลกยอมรับเหมือนๆ กัน ไม่แบ่งแยกชาติ ศาสนา เพศ หรือ ลัทธิการเมืองการปกครอง อดีตผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างนายโดนัลท์ ทรัมป์ ยังถูกห้ามการใช้งานเพราไม่ทำตัวตามกติกาและนโยบายของ Platform
ในทางตรงกันข้าม หากการใช้งานของบุคคลหรือสมาชิกคนใดถูกต้องตามกติกาและกฎเกณฑ์ของ Platform ซึ่งเป็นกฎที่คนรุ่นใหม่หรือผู้ใช้งานทั้งโลกยอมรับ แต่บทความ ข้อเขียนหรือการแสดงออกนั้นๆ ไม่ถูกใจหรือไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่รัฐใดรัฐหนึ่งกำหนดขึ้น Platform ต่างๆ บนโลกออนไลน์ก็คงจะรักษากติกาที่กำหนดและยอมรับโดยสมาชิกส่วนใหญ่ของ Platform ที่มีอยู่ทุกมุมโลกมากกว่าจะยอมทำตามคำสั่งของรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างแน่นอน