อุตฯยานยนต์ผวาโควิดรอบสองทำเชื่อมั่นการผลิตหลุดเป้า

อุตฯยานยนต์ผวาโควิดรอบสองทำเชื่อมั่นการผลิตหลุดเป้า

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.) ได้ทำการจากการสำรวจ“ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.2563” จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ1,404ราย ครอบคลุม45กลุ่มพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4

 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพ.ย. 2563 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สถานการณ์ดัชนีอุตสาหกรรมฯ ได้สะท้อนถึงทิศทางการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2564ที่แม้จะกำหนดคาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นแต่ก็มีข้อกังวลใจหลายประเด็น  

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนธ.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,089 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 11.3%  และเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ปีก่อน31.46%  นับเป็นอีกเดือนหนึ่งที่ยอดขายในประเทศเกินหนึ่งแสนคันหลังจากหมดโครงการรถยนต์คันแรก 

สะท้อนถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลเช่นการประกันรายได้เกษตรกร ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง ฯลฯ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์วันที่ 1-13 ธ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมียอดจองกว่า 33,000 คัน

ดังนั้น ส.อท.จึงประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี2564 ว่าจะผลิตได้ประมาณ1,500,000คัน มากกว่าปี พ.ศ.2563ซึ่งมีจำนวน1,426,970คัน เพิ่มขึ้น73,030คัน คิดเป็น5.12% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ750,000คัน เท่ากับ50% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ750,000คัน เท่ากับ50% ของยอดการผลิตทั้งหมด

“แม้การผลิตเพื่อการส่งออก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว6.44% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น3.83% แต่ก็ยังมีความกังวลจากเรื่องการระบาดของโควิด-19รอบสองในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งจะยังคงทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่”

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19  กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่เกิดปัญหาต่อการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งพบว่าบางแห่งขาดชิ้นส่วนบางชิ้น ทำให้ต้องชะลอการผลิตบางรุ่นลงชั่วคราวแล้ว 

161114891297

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าจากผลสำรวจดัชนีอุตสาหกรรมฯชี้ว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 71.9% ,อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 51.3% ,และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 42.1% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 47.2% และราคาน้ำมัน36.5%

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 นี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งส.อ.ท. มองว่าภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ของให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

2. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด 3. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย และ4. สนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืนในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

นอกจากนี้ กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาทนั้น

 ส.อ.ท.ขอเสนอเพิ่มเติม 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ แต่ให้พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป จากที่คณะกรรมาธิการเสนอกรณีขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 30% ของยอดสินเชื่อ และกรณีลูกค้าไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

2.ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปีในระยะ 5 ปีแรก 3.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1% และ4.ขอให้ปรับการจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยังแตรียมหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท.ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ เพื่อเสนอความเห็นในการปรับแก้พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเข้าถึงเอสเอ็มอีได้จริง เพราะที่ผ่านมาปล่อยได้เพียงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะประเด็นขอให้ลดดอกเบี้ยลง 1% เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบันลดลงมาก