เปิดหลักสูตร"กัญชา"สร้างอาชีพ สร้างรายได้
หลังจากราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 โดยใจความระบุถึงชิ้นส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ และสามารถนำมาประกองหรือปรุงอาหารได้ในเงื่อนไขที่กำหนด
ล่าสุด (20มค) กระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดนิทรรศการจัดการเรียนการสอนกัญชาและกัญชงศึกษา และมีการสาธิตทำเมนูอาหารพาเพลินที่มีส่วนผสมของกัญชา อาทิ ข้าวกระเพราแกงเขียวหวานเนื้อ หอยแมลงภู่อบพร้อมน้ำจิ้ม เค้กช็อกโกแลต และเครื่องดื่มกัญชา
โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการนำความรู้ทั้งด้านการศึกษา และการแพทย์ผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาสธ.ได้มีการต่อยอดในเรื่องนี้มาโดยตลอด เมื่อมาร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.). จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยในการนำผลิตภัณฑ์ หรือสารสกัดจากกัญชา กัญชงมาใช้ในการประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ หรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยกัญชามากขึ้น
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้เริ่มโครงการมาชิมกัญ โดยนำอาหารที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำไว้เป็นต้นแบบไปเผยแพร่ให้ร้านอาหารที่สนใจ ทำให้เห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากกัญชาและกัญชงมีจริง ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด และถูกกฎหมาย ทันสมัยปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพและสังคม สามารถขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติ
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า หลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดตำรับ “เมนูกัญชา” ปลดล็อก-ต่อยอด สู่อาหารสุขภาพที่ยั่งยืน จนนำไปสู่ “การเปิดครัวตำรับยิ้ม” โดยให้เชฟทั่วประเทศได้ลงทะเบียนร่วมเรียนรู้ โดยจะครอบคลุมในทุกผลิตภัณฑ์และบริการที่กัญชาและกัญชงมีศักยภาพ และปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางของพืชกัญชาและกัญชง ทั้งการรักษาโรค และการส่งเสริมสุขภาพ มีการศึกษาในต่างประเทศว่าการบริโภคกัญชา กัญชงปริมาณน้อยๆ จะช่วยเสริมฤทธิ์การทำงานของสารกัญชาในร่างกาย ทำให้มีสมาธิ และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่การใส่ในปริมาณมากก็อาจมีผลเสีย ต่อสุขภาพ
สอดคล้องกับองค์ความรู้การใช้ดั้งเดิมของคนไทย และเป็นไปตามองค์ความรู้ดั้งเดิมและงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงาน กศน.และกระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อผู้เรียน และประชาชนอย่างยั่งยืนโดยร่วมส่งเสริม สนับสนุน ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการหน่วยงาน องค์กร นักศึกษา ประชาชน และเครือข่าย ตลอดจนร่วมจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
ในระยะแรกจะดำเนินการร่วมกับ กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และสถานศึกษาขึ้นตรงในจังหวัดที่มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา เน้นการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ให้วิสาหกิจชุมชนปรุงอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมได้อย่างปลอดภัย และจะขยายต่อไปยังผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงในระยะต่อไป
สำหรับการดำเนินการกระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ อย. เป็นผู้ดูแลด้านกฎหมาย ระเบียบ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่มีความรู้ทางวิชาการด้านการใช้กัญชาตามองค์ความรู้ดั้งเดิม และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เป็นหน่วยงานในการนำนโยบายกัญชาทางการแพทย์ไปปฏิบัติ
ที่ผ่านมา กศน.ได้มีการจัดทำหลักสูตร กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด 120 ชั่วโมงจะครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และบริการ ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร สมุนไพร และการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการไทยได้อยู่อย่างยั่งยืน มีเศรษฐกิจที่ดี โดยจะเปิดให้ผู้สนใจ ได้ลงทะเบียน ในงานมหกรรมกัญชา กัญชง360 องศา เพื่อประชาชน ระหว่างวันที่ 5 -7 มีนาคม 2564 ณ สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์