เบร็กซิท ส่อทำค้าข้ามแดนอียูป่วน
สคต.อังกฤษ เผยปัญหาการขนส่งสินค้าหลังเบร็กซิทมีผล ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนล่าช้า ติดขัดปัญหาศุลกากร แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาระเบียบการนำเข้าสินค้าให้ชัดเจน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
นางสาวสุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ภายหลังเบร็กซิท( Brexit) มีผลบังคับใช้ การค้าระหว่างระหว่างสหราช อาณาจักรกับสหภาพยุโรปเปลี่ยนไป โดยตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรประสบปัญหาด้านการ ขนส่งที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาจากความตกลงการค้าหลังเบร็ทซิทที่ส่งผลให้การขนส่งสินค้าข้ามแดน จะต้องมีเอกสารประกอบการขนส่งสินค้ามากขึ้น เช่น Health Certificate หรือ Catch Certificateเป็นต้น ถึงแม้ที่ ผ่านมาบริษัทผู้ส่งออกและผู้ให้บริการขนส่งจะมีการเตรียมการเป็นอย่างดีในเรื่องการดำเนินพิธีการศุลกากร แต่ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่ส่งผลให้เกิดการล่าช้าในทางปฏิบัติ เช่น เอกสารไม่ถูกต้อง ตู้คอนเทรนเนอร์ปิดไม่ถูกต้อง การกำหนดระยะเวลาการขนส่งไม่แน่นอน จนส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและต้นทุนในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัท Transporeon ของเยอรมัน คาดการณ์ว่าค่าขนส่ง สินค้าไปยังสหราชอาณาจักรได้พุ่งสูงขึ้น 47% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และมีการคำนวณว่าค่าขนส่ง จากฝรั่งเศสไปยังสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น 39% และจากเยอรมันไปยังสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น 26% ถึงแม้ว่าการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะไม่มีภาษีและโควตาระหว่างกัน แต่ผู้ส่งออกกลับ ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้า (Non-Tariff Barrier) ที่เกิดจากการกรอกเอกสารและการผ่านพิธีการศุลกากรที่ ต้องใช้เวลามากขึ้น และหลายบริษัทยังคงประสบปัญหาในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่กลายเป็นข้อจำกัดในการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักร ขณะที่บริษัท SMEs หลายรายในสหราชอาณาจักรได้ชะลอการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ชั่วคราว เนื่องจากภาระในการออกเอกสารและการขนส่งที่ล่าช้า
นอกจากนี้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ของสหราชอาณาจักร อาทิ อุตสาหกรรมประมงของสหราชอาณาจักรที่ ได้รับผลกระทบจากภาระทางเอกสารและพิธีการศุลกากรเช่นเดียวกัน จนส่งผลให้ท่าเรือประมงเงียบเหงาและ ชาวประมงไม่สามารถขึ้นฝั่งได้เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามที่วางแผนไว้จนสินค้าประมงเริ่มล้นสต็อก และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่ง British Meat Processors Association (BMPA) ให้ข้อมูลว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรก มูลค่าการส่งออกได้ลดลงไปถึง 20% เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในการขนส่งและการกรอกเอกสาร
ทั้งนี้ Bank of England ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบจากความยุ่งยาก จากกฎระเบียบใหม่ที่ชายแดน ในระยะสั้น 3 เดือนแรก เป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านปอนด์
แม้ว่าความตกลงการค้า หลังเบร็ทซิท กำหนด ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายมีการยกเว้นภาษีระหว่างกัน และไม่มีการกำหนด โควตาสินค้า แต่จะต้องมีการกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เพื่อให้แน่ใจว่าการยกเว้น ภาษีสินค้าและไม่มีโควตาจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง รวมทั้งการกำหนดพิธีการศุลกากรในการขนส่งสินค้าระหว่างกันอย่างเข้มงวด จึงส่งผลให้ผู้ขนส่งและผู้ค้าหลายรายต้อง ปรับตัวในการจัดทำเอกสารซึ่งเป็นภาระที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการดำเนินการมากขึ้น
นางสาวสุภาวดี กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย ควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าสินค้า และมาตรฐานต่างๆ ทั้งของ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เนื่องจากในระยะนี้สหราชอาณาจักรซึ่งยังอยู่ในระยะของการปรับเปลี่ยนอาจยัง ใช้กฎระเบียบของสหภาพยุโรปแต่มีแนวโน้มว่าในอนาคตมาตรฐานและกฎระเบียบการนำเข้าอาจแตกต่างกันได้ นอกจากนี้ ควรหารือกับผู้นำเข้าถึงแนวทางการขนส่งสินค้านำเข้าจากไทย โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการส่งออกสินค้า ไทยจากสหราชอาณาจักรต่อไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากสินค้าที่จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีจะต้องเป็นสินค้า ที่มีถิ่นกำเนิดเป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงหลังเบร็ทซิท เท่านั้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนในการ ขนส่งสินค้า และระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าได้