ดัชนีความเชื่อมั่น 'ผู้ประกอบการค้าปลีก' 2563
เปิดบทสรุปดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปี 2563 พร้อมคาดการณ์ผลกระทบโควิดต่อภาคค้าปลีกระลอกใหม่ 2564 จะรุ่ง หรือจะร่วง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผลสำรวจความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ และน่าจะเป็นปัจจุบันที่สุดในขณะนี้ เพราะเป็นดัชนีรายเดือน แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ตามหลักสถิติศาสตร์ แต่ก็สามารถสะท้อนการบริโภคของประเทศได้ระดับหนึ่ง และเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดทิศทางและนโยบายของธุรกิจอย่างดีในปัจจุบัน
- ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2563
1.ปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสก่อโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก “หดตัว” อย่างรุนแรง นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 และหลังจากผ่านช่วงการล็อกดาวน์ มี.ค.-ต้น พ.ค. ค่อยขยับเพิ่มขึ้นสูงสุดเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ จากนั้นเมื่อมาตรการเยียวยาสิ้นสุด ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก็ค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับ จนถึงเดือน ก.ย.และขยับเพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย. จากแรงกระตุ้นการจับจ่ายตามโครงการภาครัฐ ทั้งไทยเที่ยวไทย ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง
ขณะที่เดือน ธ.ค.2563 กลับลดลงอย่างแรง ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และยังผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.-มี.ค.2564) ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับ 50 ซึ่งต่ำกว่าความเชื่อมั่นในเดือน พ.ค.ที่เป็นระยะการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น
2.ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของภาคการค้าทั้งประเทศ และด้วยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับศูนย์กลางการบริหารภาครัฐ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนดัชนีความเชื่อมั่นทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างจากดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละภูมิภาคอยู่บ้าง
3.ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ก็ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่ 50 นับตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา สืบเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นอย่างมาก และเมื่อมีการล็อกดาวน์ ดีมานด์ต่างๆ ลดลงจากการจับจ่ายโดยฉับพลัน ส่งผลให้ขบวนการซัพพลายเชนหยุดชะงัก และมีการปิดกิจการในภาคการผลิตเป็นจำนวนมาก แรงงานถูกเลิกจ้าง หรือจ้างงานไม่เต็มที่
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมซึ่งมีผลผลิตข้าวเป็นหลักก็มีผลผลิตเกินความต้องการ ราคาจึงไม่ได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้กำลังซื้อทั้งภาคกลางค่อนข้างอ่อนตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จึงลดต่ำลงอย่างที่เห็น
4.ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนือ ผลกระทบจากโควิดต่อรายได้จากการท่องเที่ยวมีน้อยกว่าภาคใต้ ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรกรรมที่มีความสำคัญรองลงมา ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 26 ก็มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย สตรอว์เบอร์รี ชาและกาแฟพันธุ์อาราบิกา ซึ่งมีรายได้ดีตลอดปี 2563 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในเกณฑ์เชื่อมั่น “ปานกลาง”
5.ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนข้างมีทิศทางใกล้เคียงกับภาคเหนือ คือลดลงในช่วงแรกและฟื้นตัวขึ้นอย่างเร็วในระยะต่อมา โดยมีสัดส่วนภาคการค้า (ค้าปลีกค้าส่ง) ที่ใหญ่กว่าภาคเหนือ ด้วยประชากรกว่า 22 ล้านคน หรือราวหนึ่งในสาม ส่งผลให้เกิดการบริโภคที่สูงเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับผลกระทบจากโควิดน้อยเมื่อเทียบกับภาคกลางและภาคใต้ ก็เพราะแรงงานส่วนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้างในภาคกลางย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนามีกำลังซื้อจากเงินบำเหน็จบำนาญ
6.ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคใต้ พบว่า “ต่ำกว่า” ภูมิภาคอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่เส้น 50 ตลอดทั้งปี แม้จะมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ช่วยชดเชยรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3-10% เท่านั้น ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักคือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งราคาในปี 2563 ก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ
7.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิม ในเดือน ธ.ค.2563 รายภูมิภาคปรับลดลงจากเดือน พ.ย.ในทุกภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งได้รับผลกระทบก่อนภาคอื่นๆ
8.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทความร้านค้าปลีก (ไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนียนสโตร์) พบว่าโควิดปี 2563 มีผลกระทบต่อร้านค้าปลีกประเภท Hypermarket อย่างชัดเจน ผู้บริโภคจับจ่ายต่อครั้ง Per Basket ลดลง และความถี่ในการเข้าร้านประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตก็ลดลง อีกทั้งห้างค้าปลีก Modern Chain Store ไม่มีสิทธิที่ให้บริการโครงการสวัสดิการภาครัฐและโครงการคนละครึ่ง ทำให้มีผลกระทบเป็นทวีคูณ
9.ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือน ธ.ค.ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 อย่างชัดเจน ในขณะที่เดือน พ.ย. ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 บวก กับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” ไม่ปังเท่าที่คาด ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายโครงการ อาทิ เราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง จึงส่งผลทำให้ประชาชนมีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แม้ว่าทางร้านค้าปลีกจะจัดส่งเสริมการขายควบคู่กับโครงการอย่างมากมายก็ตาม
10.ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือน ธ.ค.มีความเชื่อมั่นทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. อาจจะเป็นช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว การก่อสร้างอาจจะยังไม่เริ่มต้น และโครงการต่างๆ ของภาครัฐยังอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างและยังไม่เริ่มเบิกจ่าย
11.ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ “ลดลง” อย่างมีนัยชัดเจนมาก และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะร้านอาหารมีความไวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการให้บริการ รวมถึงผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องอาหารที่อาจได้รับการติดเชื้อ อีกทั้งผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นการบริหารแบบเชนสโตร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่วนความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดือน ธ.ค.
- การคาดการณ์ผลกระทบโควิดต่อภาคค้าปลีกระลอกใหม่ 2564
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าสถานการณ์การค้าปลีกค้าส่งในครึ่งปีแรก 2564 น่าจะมีแนวโน้มและทิศทางเดียวกับครึ่งปีหลังของปี 2563 กล่าวคือจะมีแนวโน้มที่ลดต่ำลง ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค-มี.ค.) จะมีความคล้ายคลึงกับไตรมาสสามของปี 2563 ( ก.ค.-ส.ค.-ก.ย.) คือมีทิศทางที่ลดลงแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อมีข่าวคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนในเฟสแรก บวกกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (โครงการคนละครึ่ง)
ส่วนในไตรมาสสองของปี 2564 (เม.ย.-มิ.ย.) ก็จะมีทิศทางคล้ายกับไตรมาสหลังปี 2563 (ต.ค.-ธ.ค.) กล่าวคือเมื่อมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ แผ่วลง บวกกับผลกระทบจากการปิดกิจการ การเลิกจ้าง และการจ้างงานไม่เต็มเวลาสะสมเพิ่มขึ้น
ส่วนครึ่งปีหลังของปี 2564 ก็จะมีแนวโน้มและทิศทางคล้ายกับครึ่งปีแรกของปี 2563 กล่าวคือค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เป็นลำดับ