กรุ๊ปเอ็ม สกัด 6 สูตรการตลาด รับมือวิกฤติโควิดระลอกใหม่
กรุ๊ปเอ็ม ตกผลึก 6 แนวทางรอด ฝ่าวิกฤติ แนะแบรนด์ นักการตลาด ปรับตัวต่อเนื่อง อย่าเบรกลงทุนสร้างแบรนด์ เน้นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้า เกาะติดมาตรการรัฐ เพื่อออกอาวุธให้เข้าสถานการณ์ตลาด ผู้บริโภค
ธุรกิจออกตัวรับความเสี่ยงโควิดระบาดรอบ 2 กรุ๊ปเอ็ม ตกผลึก 6 แนวทางรอด ฝ่าวิกฤติ แนะแบรนด์ นักการตลาด ปรับตัวต่อเนื่อง อย่าเบรกลงทุนสร้างแบรนด์ เน้นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้า เกาะติดมาตรการรัฐ ผู้บริโภคเก่งเทคโนโลยี เพื่อออกอาวุธให้ตรงใจ ย้ำแผนสำรองธุรกิจต้องมี เพราะโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาคธุรกิจ นักการตลาดและแบรนด์ต่างมีบทเรียนรับมือกับวิกฤติไวรัสในปี 2563 มาแล้ว แต่การปรับตัว ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในปี 2564
ทั้งนี้ กรุ๊ปเอ็มผนึกเอเยนซี่ในเครือ ได้แก่ มายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ เพื่อสกัด 6 แนวทางสำคัญในการทำตลาดฝ่าวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ ดังนี้ 1. เร่งขยายช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ให้เหมาะสมกับสินค้าและบริการ จากบทเรียนปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้พึ่งพาการช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโค 89% เทเวลาชอปปิงออนไลน์มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอด หลายอุตสาหกรรมได้ปรับตัวสร้างช่องทางจำหน่ายบนตลาดออนไลน์ของตัวเอง ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซปีก่อนโต 35%
2. เพิ่มการลงทุนในช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างจำเพาะเจาะจง รับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เสพคอนเทนท์ข้ามแพลตฟอร์มมากขึ้นและรวดเร็ว การวางแผนซื้อสื่อจึงต้องครอบคลุมทุกจุดสัมผัสหรือทัชพอทท์ของผู้บริโภค เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน 3. เตรียมตัวสู้การแข่งขันในยุคขับเคลื่อนธุรกิจ การตลาดด้วยข้อมูลหรือ Data Driven ที่จะเข้มข้นขึ้น โดยแบรนด์และนักการตลาดควรหาพันธมิตรที่มีความสามารถในการช่วยแปลงข้อมูลให้เป็นความรู้ที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการวางแผนกลยุทธ์การขาย การตั้งราคา การจัดโปรโมชั่น ตลอดจนการหาลูกค้าเพิ่มจากแพตลฟอร์มใหม่ ๆ เป็นต้น
4.แบรนด์ต้องไม่หยุดสร้างการรับรู้แบรนด์ แม้ผู้ประกอบการจะแข่งขันด้านราคา โหมโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ชิงยอดขาย แต่แบรนด์หลักจะต้องไม่ลดการลงทุนสื่อสารการตลาด สร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ให้กับผู้บริโภค เพื่อครองใจกลุ่มเป้าหมายในระยะยาว ส่วนแบรนด์หน้าใหม่ เวลานี้เป็นโอกาสดีที่จะสื่อสารการตลาดผ่านสื่อออฟไลน์ เช่น ทีวี เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่บ้านและมีเวลารับสื่อมากขึ้น
5. ตามติดสถานการณ์มาตรกาต่างจากภาครัฐแบบทันท่วงทีหรือ Realtime การระบาดของโควิดรอบใหม่ มาตรการต่างๆจากภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้บริโภคเองก็เข้าใจ ใช้งานเทคโนโลยีดี รวดเร็ว และมีประสิทธภาพขึ้น เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ มีการลงทะเบียนอย่างรวดเร็ว
“นักการตลาดต้องทำงานโดยเคลื่อนตัวให้เร็ว ปรับตัวให้เข้าถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”
6. ภาคธุรกิจ นักการตลาดต้องเตรียมแผนสำรองไว้รองรับเหตุกาณ์ไม่คาดฝันเสมอและอาจจำเป็นต้องเตรียมแผน 2 แผน 3 หรือแผน 4 เผื่อไว้ด้วย ขณะที่ทีมงานต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน พร้อมเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อให้แผนสำรองที่เตรียมไว้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อจำเป็น