'ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา' ผ่านออนไลน์ 'กรมสรรพากร' ต้องทำอย่างไร?
ฤดูกาล "ยื่นภาษี" มาแล้ว เปิดวิธี "ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ผ่านออนไลน์ "กรมสรรพากร" ต้องทำอย่างไร? พร้อมอัพเดทมาตรการช่วยเหลือขยายเวลาการยื่น-เสียภาษี ปี 2563 มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
หนึ่งในเรื่องที่ "ผู้มีเงินได้" ทุกคนต้องรู้ เนื่องจากเมื่อมี "รายได้" เข้ามา (ภาษาทางภาษีเรียกว่า "เงินได้") ในช่วงปีนั้นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม เมื่อเริ่มต้นปีถัดไปเดือนมกราคม-มีนาคมในปีถัดไป ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน หรือยื่นผ่านแบบอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์กรมสรรพากร คลิกที่นี่
สำหรับปี 2564 ที่ทุกคนต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2563 ออกไปอีก 3 เดือน จากที่กำหนดเดิมสิ้นสุดวันสุดท้าย 31 มี.ค.2564 ไปเป็น 30 มิ.ย.2564
ขณะเดียวกันเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีเงินได้ กรมสรรพากรได้ขยายระยะเวลาวันสิ้นสุดชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตออกไปอีก 8 วัน จากเดิมที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค. ไปเป็นวันที่ 8 เมษายน โดยการช่วยเหลือนี้ขยายออกไป 3 ปี จนถึงปี 31 ม.ค.2567
แต่แม้จะยืดเวลาการยื่นภาษีออกไปอีก 3 เดือน แต่ก็อย่าชะล่าใจไป เพราะที่จริงแล้ว สำหรับใครที่เข้าเกณฑ์จะได้คืนภาษี ยิ่งยื่นเร็ว ก็จะเท่ากับว่า ได้คืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เร็วขึ้นด้วย
ทั้งนี้ แม้การยื่นภาษีจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับ ผู้ยื่นภาษีมือใหม่ ก็อาจจะมึนๆ งงๆ กันอยู่บ้าง ฉะนั้น เพื่อให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความเข้าใจเรื่องภาษีในระดับ 101
โดยขอเริ่มต้นกันที่การไปทำความรู้จัก "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" กันก่อนว่า มีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร หากต้องการยื่นภาษีทางออนไลน์ ต้องเตรียมเอกสาร และมีวิธีการอย่างไรบ้าง? "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความเข้าใจง่ายๆ กัน ดังนี้
- 8 ประเภท "เงินได้" ที่ต้องเสียภาษี
โดยตามกฎหมายแล้ว เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ โดยเงินได้ที่พูดถึงนี้รวมถึง 1.เงิน 2.ทรัพย์สิน 3.ประโยชน์อื่นๆ ที่อาจคำนวณได้เป็นเงิน ซึ่งทั้งสามส่วนนี้จะต้องได้รับจริง 4.เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ และ 5.เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
เงินได้ประเภทที่ 1 เงินได้ที่เกิดจากการจ้างแรงงาน เช่น
- เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการจ้างงาน เช่น มูลค่าของการรับประทานอาหาร
เงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น
- ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
- เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- ‘ยื่นภาษีออนไลน์ 2564’ ยื่นด้วยตนเอง ต้องเตรียมและทำอะไรบ้าง?
- 'ลดหย่อนภาษี' ปี 63 'คนโสด' ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง?
- เตรียมตัวก่อน ‘ยื่นภาษี 2563’ อะไร ‘ลดหย่อนภาษี’ ได้บ้าง?
- ‘ยื่นภาษี’ 2564 ต้อง ‘เสียภาษี’ เท่าไร? เปิดแอพฯ ช่วยคำนวณภาษีฟรี ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปีหรือเงินได้ที่มีลักษณะป็นเงินรายได้อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ
เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม ฯลฯ
เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญที่นอกจากเครื่องมือ
เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
- ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง?
เรื่องนี้ ยังมีหลายๆ คนเข้าใจผิด โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ ที่อาจจะยังมีเงินเดือนไม่มาก หรือ มีเงินได้ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็มักจะคิดว่า ตนเองไม่ต้องยื่นภาษี ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการยื่นภาษี คือ หน้าที่ของบุคคลซึ่งมีเงินได้เกิน 120,000 บาท/ปี จะต้องยื่นภาษีทุกคน
โดยผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
1. บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มี "เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ" โดยแบ่งตาม ประเภทเงินได้ และ สถานะ ดังนี้
- เงินเดือนเพียงอย่างเดียว : โสด 120,000 บาท / สมรส 220,000 บาท
- เงินได้ประเภทอื่น : โสด 60,000 บาท / สมรส 120,000 บาท
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
- เมื่อเกิดเงินได้ขึ้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องทำอะไรบ้าง?
เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ
1. ต้องขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น
- ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษี โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
- ผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น คนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
2. ยื่นแบบแสดงรายการปกติปีละ 1 ครั้ง โดยปกติจะยื่นช่วงมกราคม- 31 มีนาคม ของปีนั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นเงินได้บางประเภทจะต้องยื่นตอนช่วงกลางปีด้วยประมาณเดือนกันยายนของปีนั้นๆ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรก เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ ฯลฯ
ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ และหน้าที่ต้องยื่นภาษี สามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบคือ
1. ยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
2. ยื่นผ่านไปรษณีย์ไปที่กองบริการการคลังและรายได้ กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 และ
3. ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร หรือยื่นผ่าน Rd smart tax application ทางโทรศัพท์มือถือ
- ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์มือใหม่
1. เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร คลิกที่นี่
2. เลือกรายการบริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต
3. เลือกรายการบริการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณี
4. สำหรับการเข้าสู่การใช้บริการครั้งแรก ให้เลือกรายการลงทะเบียนก่อน ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เช่น เลขบัตรประจำตัวผู้เสีนภาษีอากร วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ อีเมลที่ติดต่อได้ สร้างรหัสผ่าน 8 หลังด้วยตัวเอง เป็นต้น
5. เมื่อได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดง หมายเลขผู้ใช้ และรหัสผ่านบนหน้าจอ
6. เข้าระบบโดยบันทึก หมายเลขผู้ใช้ และรหัสผ่าน
7. ป้อนรายการข้อมูล ได้แก่ รายการเงินได้ ค่าลดหย่อน เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ แล้ว คลิก "ตกลง" เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
8. เมื่อได้ตรวจสอบรายการข้อมูลที่บันทึกและสั่งให้ระบบ "คำนวณภาษีแล้ว" ตรวจสอบและยืนยันการยื่นแบบ
- กรณีไม่มีภาษีต้องชำระ
- โปรแกรมจะแจ้งผลการรับแบบและหมายเลขอ้างอิง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ
- กรมสรรพากรจะส่งใบเสร็จรับเงินให้ตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนไว้
- กรณีมีภาษีต้องชำระ
- หากเลือกวิธีชำระภาษีผ่าน e-payment ระบุนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่ และดำเนินการตามขั้นตอนของธนาคารนั้น
- หากเลือกวิธีชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ระบบจะแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รหัส ควบคุม และจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำไปชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารต่อไป เพื่อความสะดวกและถูกต้อง โปรดสั่งพิมพ์หรือจดข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย
หากเลือกวิธีชำระภาษี ณ เคาน์เตอร์ ไปรษณีย์อัตโนมัติ (Pay at Post ) ระบบจะแจ้งรายการข้อมูลเช่นเดียวกับวิธีชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำไปชำระภาษี ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง (ยกเว้น ปณ. โสกเชือก จ.ร้อยเอ็ด และ ปณ.ชุมแสงสงคราม จ.พิษณุโลก