รฟม.คาดเดือนมี.ค.ได้ผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รฟม.คาดเดือนมี.ค.ได้ผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รฟม.เผยใช้เวลา 2 เดือนพิจารณาซองข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดภายใน มี.ค.นี้ได้ตัวผู้ชนะ เร่งก่อสร้างเปิดบริการปี 2567 เตรียมเจรจาเอกชน ปรับกรอบราคาค่าโดยสารอิงอัตราสายสีน้ำเงิน 15 - 45 บาท เหตุเป็นราคาที่ผู้โดยสารรับได้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนท์ และงานเดินรถทั้งเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ รฟม. ยังอยู่ระหว่างรอรับฟังคำตัดสินของศาลปกครอง หลังจากที่เอกชนไปใช้สิทธิยื่นร้องเรียนตามกระบวนการศาล และก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวนไปแล้ว คาดว่าจะมีการพิจารณาตัดสินในเร็วนี้ ภาพรวมเนื่องจาก รฟม.ได้เปิดรับซองข้อเสนอมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จึงถือว่าขั้นตอนมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ทั้งนี้ ยังประเมินว่าหากศาลมีคำสั่งตัดสิน จะสามารถเร่งรัดขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอให้การดำเนินงานคงอยู่ตามแผน เริ่มเปิดให้บริการในปี 2567

“หากศาลมีคำสั่งในเร็วๆ นี้ รฟม. คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนในการพิจารณาข้อเสนอเอกชน เพราะอย่างที่ทราบว่าโครงการนี้มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือกลุ่มบีอีเอ็ม และกลุ่มบีทีเอส ดังนั้นจะใช้เวลาไม่มากในการพิจารณาข้อเสนอ อาจจะเสร็จเร็วกว่าที่ รฟม.ประเมินไว้ ใช้เวลาราว 2 เดือน ในเดือน มี.ค.นี้ก็จะเสร็จ”

อย่างไรก็ดี รฟม. ได้เตรียมเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลในประเด็นของการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วย เนื่องจากผลการศึกษาที่กำหนดในเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) พบว่าราคาตามมาตรฐานการกำหนดราคาของ รฟม. คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food&beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง มีกรอบราคาค่าโดยสารที่ 17-62 บาท โดยเป็นราคาจัดเก็บสูงสุดอยู่ที่ 12 สถานี เฉลี่ยปรับเพิ่มสถานีละ 3-4 บาท แต่ รฟม. จะเจรจากับเอกชนผูชนะการประมูล ให้ปรับราคาลดลงเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นจริง และเป็นราคาที่ประชาชนรับได้ โดยนำอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะกำหนดราคาเหมาะสมอยู่ที่ 15-45 บาท จัดเก็บสูงสุด 12 สถานี คิดเป็นราคาเฉลี่ยปรับเพิ่มสถานีละ 2.50 บาท

สำหรับกรณีการเจรจาปรับลดอัตราค่าโดยสารนั้น รฟม.ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดเดินรถจำเป็นต้องคำนวณอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายกำหนดค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระของประชาชน เป็นราคาที่ประชาชนรับได้ ดังนั้น รฟม. จึงเล็งเห็นว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นราคาตามเกณฑ์กำหนดใช้ในปัจจุบัน โดยเชื่อว่าเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทั้งสองรายจะรับได้ เนื่องจากเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า มีประสบการณ์มาแล้ว 15-20 ปี ดังนั้นจะทราบดีกว่าแนวโน้มผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากราคารถไฟฟ้าเหมาะสมจะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการเพิ่ม และคุ้มค่าต่อการลงทุน

“เราจำเป็นต้องกำหนดราคาตามมาตรฐานที่ศึกษาไว้ก่อน กำหนดไว้ใน RFP เพื่อเป็นกรอบประมูล แต่เมื่อสถานการณ์เปิดให้บริการ เราต้องมาเจรจาคำนวณราคาที่เหมาะสมกันอีก เพราะหากกำหนดราคาแพงผู้โดยสารจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง เรามั่นใจว่าเมื่อราคาถูกลง ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเชื่อว่าเอกชนจะมีความเชื่อมั่นในการประมูล”

ทั้งนี้ ผลการศึกษาโครงการ รฟม.ประเมินว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งเป็นเปิดให้บริการช่วงตะวันออก มีนบุรี - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในปี 2567 คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 1 แสนคนเที่ยวต่อวัน และเมื่อเปิดให้บริการเต็มสาย ช่วงมีนบุรี - บางขุนนนท์ ในปี 2569 จะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4 แสนคนเที่ยวต่อวัน โดยปริมาณผู้โดยสารนี้ อยู่บนสมมติฐานกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท ดังนั้น รฟม.เชื่อว่าหากมีการเจรจาปรับลดค่าโดยสาร ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดราคาค่าโดยสาร 15-45 บาท ไม่ได้เป็นกรอบเจรจาที่จะนำมาใช้เพียงรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่ รฟม. จะนำไปกำหนดเป็นค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 เพื่อให้ราคาค่าโดยสารเป็นอัตราใกล้เคียงกัน เหมาะสมและเป็นราคาที่ประชาชนรับได้ นอกจากนี้ รฟม.ยังมีแนวคิดที่จะจัดเก็บอัตราค่าแรกเข้าครั้งเดียว แม้จะมีการเชื่อมต่อมาจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส้ม ชมพู หรือเหลือง โดยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายแรกที่ผู้โดยสารเข้าระบบ จะได้รับค่าแรกเข้า และค่าโดยสารตามระยะทางการเดินทาง หากมีการเข้าสู่ระบบที่สอง ก็จะมีการคิดค่าโดยสารตามระยะทางให้แก่ผู้ให้บริการในระบบที่สองเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)