'กันกุล' รุกเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า-ประมูลชิงเค้กงาน EPC
“กันกุล” วางงบ 3 ปี วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือทั้งในและต่างประเทศแตะ 1,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าร่วมชิงเค้กประมูลงาน EPC ภาครัฐ 8% ของมูลค่าโครงการรวม 4-5 หมื่นล้านบาท ปี64 หวังรายได้โต 20% ขณะที่ปี63 ทะลุเป้า 30%
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัท ยังเดินหน้าแผนการลงทุนในช่วง 3 ปี(2564-2566) ภายใต้กรอบงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือ ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อผลักดันเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแตะ 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปี หรือ เพิ่มขึ้นอีก 400-500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มียอดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วประมาณ 600 เมกะวัตต์
โดยในปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้เติบโตจากปี 2563 ประมาณ 15-20% จากการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจา ทั้งในไต้หวันและเวียดนามที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง และในปีนี้ ยังรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าในเวียดนาม กำลังผลิต 160 เมกะวัตต์ และโครงการในมาเลเซีย อีก 30 เมกะวัตต์
รวมถึงตั้งเป้าหมายจะมีจำนวนเมกะวัตต์ในส่วนของโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 70 เมกะวัตต์ หรือ 200 เมกะวัตต์ใน 3ปี จากปัจจุบันมีอยู่ในมือประมาณ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของโซลาร์รูฟท็อป จะแบ่งออกเป็นงานรับเหมาติดตั้ง(EPC) ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นประมาณ 30-50 เมกะวัตต์ต่อปี และโซลาร์รูฟท็อป ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ลักษณะ Private PPA ประมาณ 60-70 เมกะวัตต์ต่อปี
ขณะที่ ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมและระบบ (EPC) ปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะเติบโตจากปีก่อน 30% หรือ ทำรายได้ 3,000-3,500 ล้านบาท จากปี2563 คาดว่าจะมีรายได้ 1,800 ล้านบาท หรือตั้งเป้าหมานจะมีงานในมือ(แบ็กล็อก) ปีนี้ รวมอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีงานในมือ(แบ็กล็อก) แล้วมูลค่า 8,500 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ งานของกลุ่มกรุงเทพธนาคม มูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปีครึ่ง และงานของกลุ่มการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) อีก 4,500 ล้านบาท ที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง
อีกทั้งปีนี้ บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลงานสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ขนาด 230-500 เควี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ TOR ขณะเดียวกันเป้าหมายการเติบโตดังกล่าว ยังไม่รวมโครงการพิเศษ (ขนาดใหญ่) ที่บริษัทจะเข้าไปร่วมประมูลอีก เช่น การวงระบบไมโครกริดที่เบตง ขณะนี้รอ TOR และระบบเคเบิลใต้ทะเล อีก 3 เกาะ เป็นต้น
“ภาพรวมงานทั้งประเทศปีนี้ มูลค่าราว 4-5 หมื่นล้านบาท จาก 3 การไฟฟ้า ซึ่ง กันกุล คาดหวังเข้าร่วม 7-8% ของเค้กก้อนใหญ่ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท ถ้าทำได้ภายในปีเดียว เราก็จะโต 200%"
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ตั้งเป้าจะบันทึกรายได้ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาท จากก่อนอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 20-30% จากการที่ PEA จะมีโครงการติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะทั่วประเทศ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2563 คาดว่า รายได้จะเติบโต 30% หรือทะลุเป้าหมายที่เดิมคาดว่าจะเติบโต 15-20% จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตในทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจพลังงาน ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมและระบบ (EPC) และธุรกิจผลิต จัดหา และจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า
รวมถึง ยังรับรู้รายได้จากการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ในประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิตตามการซื้อขายไฟฟ้า 75 เมกกะวัตต์ และตามการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าขายรวม 2,864 ล้านบาท และก่อให้เกิดกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในงบการเงินไตรมาส 4 ปี2563 เป็นมูลค่า 1,091 ล้านบาท เป็นต้น