'ในหลวง' ใช้งบส่วนพระองค์ ทำ 'ราชทัณฑ์ปันสุข' เคลียร์ 9 ข้อ 'ปิยบุตร'
'ปลัดยุติธรรม' ระบุ 'ราชทัณฑ์ปันสุข' ใช้งบส่วนพระองค์ โดยพระราชทาน 190 ล้านบาท ส่วนปีนี้ให้เพิ่มอีก 118 ล้านบาท ยัน ตั้งคณะกรรมการไม่ใช่บริหารราชการแผ่นดิน คลอบคลุมคำถาม 9 ข้อ 'ปิยบุตร'
28 ม.ค.64 -นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) กล่าวถึงกรณี นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าตั้งคำถาม 9 ข้อกรณีการตั้งคณะกรรมการราชทัณฑ์ปันสุข ว่าโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรมต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขังที่เจ็บไข้ได้ป่วย จำนวนมาก แต่ยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์
ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม เมื่อพันโทษออกไปจะได้มีสุขภาพดี จึงพระราชทานความช่วยเหลือทั้งการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งมีจิตอาสาพระราชทานเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ
“ปัจจุบันเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมาก แต่กรมราชทัณฑ์มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด ในปี 2563 ได้รับพระราชทานเงินมาให้จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้ใช้ทั้งในเรือนจำและโรงพยาบาลภายนอกจำนวน 190 ล้านบาท ปีนี้พระราชทานให้อีก 118 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนและโรงพยาบาลภายนอกได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ยืนยันว่าโครงการพระราชทานสอดคล้องกับตามหลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญากรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา และไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด” นายวิศิษฎ์ กล่าว
เมื่อถามว่า สามารถชี้คำถามนายปิยบุตรทั้ง 9 ข้อได้หรือไม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่พูดมาน่าจะชัดเจนทั้งหมดแล้ว โครงการราชทัณฑ์ปันสุขเป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือ และการตั้งคณะกรรมการฯก็ไม่ต้องใช้กฎหมายรองรับเพราะไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งคณะกรรมการฯก็ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆรวมถึง รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม หรือปลัด ฯก็ไม่มีอำนาจในการสั่งให้คณะกรรมการฯชุดนี้กระทำการใดๆเช่นกัน มีบทบาทเพียงให้ข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงจุดที่ยังขาดแคลนมากที่สุด เช่น รถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ควรไปตั้งที่จุดใดจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด หรือผู้ต้องขังเรือนจำใดจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาวัณโรค ซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมการฯไม่มีกรอบระยะเวลา
“สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวไม่ทราบมีการเสนอรายชื่ออย่างไร ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับพระราชทานความช่วยเหลือเท่านั้น ที่ผ่านมาราชวงศ์ได้ทำโครงการความช่วยเหลือประชาชนชนผ่านกระทรวงยุติธรรมหลายเรื่องตั้งแต่รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ผู้ต้องขังได้อ่านหนังสือมากขึ้น และ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว