ธนารักษ์ จี้เอกชน เร่งพัฒนา 'ศุลกสถาน' เนรมิตโรงแรมหรู
ธนารักษ์เร่งผู้ประกอบการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลง "ศุลกสถาน" หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม หวังเนรมิตเป็นโรงแรมหรู ไม่ต่ำกว่า 5 ดาว ตั้งเป้าแล้วเสร็จปี 68
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า กรมฯได้เร่งรัดให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณอาคารเก่า 130 ปี "ศุลกสถาน" หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม ให้เป็นไปตามกำหนดในปี 2568 โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีการพัฒนาเป็นโรงแรมระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว กรมฯได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมาได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับกิจการร่วมค้า บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ทส์ ลิมิเต็ด เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2548
ต่อมาได้ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 โดยกิจการร่วมค้าฯ จะต้องก่อสร้างอาคารชดเชยให้กับกองบังคับการตำรวจน้ำและ กรมศุลกากร พร้อมทั้งชำระผลประโยชน์ให้กับทางราชการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานเพื่อเป็นโรงแรมระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาวดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ราชพัสดุบริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.043314 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยมีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1855 ในสมัยรัชกาลที่ 4
เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตกมีผลให้ไทยต้องจัดตั้งศุลกสถาน (CUSTOMS HOUSE) หรือโรงภาษีขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม (ร้อยชักสาม) และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญาในราวปีพ.ศ. 2427
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศุลกสถานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสินค้าหนีภาษีและการจัดเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งออกแบบโดยโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกผู้ถือสัญชาติฝรั่งเศส โดยในอันดับแรกได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบบ้านเดิมของพระยาอาหารบริรักษ์ ตึกแบบจีนที่ใช้เป็นโรงภาษีมาแต่เดิมเป็นอาคารยาวสูงสองชั้น วางผังตั้งฉากกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารด้านทิศเหนือเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก หลังด้านทิศใต้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและที่ทำการไปรษณีย์
ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2430 ได้รื้ออาคารเก่าแบบจีนตรงกลางลงแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้น ในช่วงปี 2431 – 2433 เป็นอาคารศุลกสถานซึ่งเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึง พ.ศ.2492 กรมศุลกากรจึงย้ายไปอยู่ที่คลองเตย
ต่อมาในปีเดียวกันจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นที่ทำการตำรวจน้ำและสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และเนื่องจากที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามซึ่งใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสถานีดับเพลิงบางรักและตำรวจน้ำ เป็นที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพสูงมาก และมีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ กรมฯได้ดำเนินการส่งมอบอาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาด 100 ครอบครัว ซึ่งเป็นอาคารชดเชยตามโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.352532 กท.352597 – 352599 บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพฯ ถนนพระราม 3 เขตบางแหลม กรุงเทพมหานคร ให้กรมศุลกากรเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยให้กองบังคับการตำรวจน้ำ บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.180907
โดยปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยคืบหน้าไปว่า 81% คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.2564 นี้