โพลล์ 'สทท.' หนุนเปิดประเทศ จี้รัฐเตรียมพร้อมรับทัวริสต์ต่างชาติ
แม้ประเด็น “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะถูกลดความร้อนแรงไปหลังเกิดการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19
แต่หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับการกลับมาของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยซึ่งเคยทำรายได้นิวไฮสูงถึง 1.91 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.92 ล้านคน ก่อนจะถูกวิกฤติโควิด-19 ทุบร่วงในปี 2563 เหลือรายได้เพียง 3.32 แสนล้านบาท จากจำนวนต่างชาติเที่ยวไทย 6.69 ล้านคน ลดลงทั้งรายได้และจำนวน 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผิดไปจากเป้าหมายของรัฐบาลที่เคยตั้งไว้ว่าปี 2563 ต้องดึงต่างชาติเที่ยวไทยให้ได้ 41.78 ล้านคน สร้างรายได้ 2.22 ล้านล้านบาท
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการเกี่ยวกับนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะอาจจะมีขึ้นในอนาคต หลังได้สำรวจประชาชนชาวไทยจำนวน 1,444 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 785 ราย ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-10 ธ.ค.2563 พบว่า ประชาชน 60% และผู้ประกอบการ 50% มีความคิดเห็นว่า “ควรเปิดประเทศ”
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 42% และผู้ประกอบการ 52% ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวในท้องที่ของเขา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 39% และผู้ประกอบการ 50% เห็นว่าควรรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อทัวร์ VIP โดยไม่ต้องกักตัวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีระยะเวลาอยู่ในประเทศไทยเพียงระยะสั้น 7-10 วัน
ประชาชนส่วนใหญ่ 52% และผู้ประกอบการ 53% ยังเห็นว่าควรเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำโดยต้องมีการกักตัว 10-14 วัน ในชุมชนที่มีวิสาหกิจด้านการท่องเที่ยวที่ต้องการรับนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในพื้นที่ โดยต้องทำเรื่องขออนุญาตจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. และมีการแบ่งรายได้ให้ชุมชน
ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ 51% และผู้ประกอบการ 60% มีความคิดเห็นว่าควรเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวประเภทวีซ่าพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) โดยมีการกักตัว 14 วันในโรงแรม รีสอร์ท และฟาร์มสเตย์ที่มีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมคลายเครียดได้
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.มีข้อเสนอต่อภาครัฐด้าน “นโยบายการท่องเที่ยว” ต้องการให้รัฐเตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในปลายปี 2564 ผ่านมาตรการสนับสนุนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว STV ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยต้องมีการกักตัว 14 วันในโรงแรม รีสอร์ท ฟาร์มสเตย์ที่มีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการต้องเข้ากักตัว
นอกจากนี้ยังต้องการให้มีมาตรการสนับสนุนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว โดยไม่ต้องมีการกักตัว ขณะที่การนำเที่ยวต้องให้บริษัทนำเที่ยวขออนุญาต ศบค.และแจ้งเส้นทางการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ควบคุมให้นักท่องเที่ยวอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด และมีแอปพลิเคชันติดตามเส้นทางตลอดการท่องเที่ยว
พร้อมออกมาตรการส่งเสริมให้ชุมชนที่มีวิสาหกิจด้านการท่องเที่ยว เช่น ปางช้างในจังหวัดต่างๆ กลุ่มท่องเที่ยวทางทะเลในชลบุรี ระยอง ตราด ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล สามารถรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว มาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ โดยต้องลงทะเบียนขออนุญาตจาก ศบค.และต้องมีการดูแลนักท่องเที่ยวตามมาตรฐานที่ ศบค.กำหนด
ด้านการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องมี “ศูนย์ประสานงานในต่างประเทศ” เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลบนโลกออนไลน์ยังมีความสับสนในข้อมูลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐจัดแผนกระตุ้นตลาด “การท่องเที่ยวในประเทศ” อย่างเข้มข้น หลังควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ เช่น การเพิ่มความถี่จัดกิจกรรมในเมืองหลัก สนับสนุนการปรับสไตล์พักผ่อนหย่อนใจเป็นสไตล์การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดเพื่อกระจายรายได้จากการเดินทาง
พร้อมพิจารณาเพิ่มงบประมาณโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้วยการขยายเวลาในโครงการไปจนถึงสิ้นปี 2564 และขยายประเภทธุรกิจที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ให้มากขึ้น เช่น โรงแรม ที่พัก สายการบิน บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจร้านนวดสปา ธุรกิจรถเช่า รถแท็กซี่ สวนสนุก ธีมปาร์ค และสถานบันเทิง
รวมถึงการปรับปรุงวิธีการใช้สิทธิ์ให้เม็ดเงินเข้าถึงผู้ประกอบการเร็วขึ้น เพื่อรักษาการจ้างงานในภาคบริการเอาไว้ โดยใช้วิธีการเดียวกันกับโครงการ “คนละครึ่ง” กล่าวคือขอให้รัฐบาลเติมเงินในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ให้ประชาชนท่องเที่ยวประมาณ 7,000-10,000 บาทต่อคน เพื่อใช้ลดค่าสินค้าและบริการในธุรกิจกลุ่มเป้าหมาย โดยวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ลดได้ 40% วันธรรมดาลดได้ 50%