บีทีเอสแบกสายสีเขียวไม่ไหว ยื่นโนติสทวงหนี้กทม.3หมื่นล.

บีทีเอสแบกสายสีเขียวไม่ไหว ยื่นโนติสทวงหนี้กทม.3หมื่นล.

“บีทีเอส”ส่งโนติสถึงกทม.ทวงหนี้3หมื่นล้านค่าจ้างเดินรถฯสายสีเขียว รับผวาปมหนี้เพิ่มแบบไร้แผนรองรับขีดเส้น 60 วันไร้คำตอบพร้อมเดินหน้าตามกฎหมาย ด้านกทม.ยอมแบกภาระขาดทุน ยันอัตราค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาทเหมาะสมแล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา บีทีเอสซีได้ทำหนังสือทวงถามไปยังบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) เรื่องการชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งมีมูลหนี้รวมอัตราดอกเบี้ยกว่า 9.6 พันล้านบาท

“เราได้แจ้งรายละเอียดหนี้และทำหนังสือทวงถามไป เพราะเห็นว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นมีมูลค่าค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถที่ใกล้จะครบกำหนดชำระในเดือน มี.ค.นี้ อีกราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้บีทีเอสซีมองว่าต้องหารือร่วมกันแล้ว เพราะเราก็ต้องแบกรับต้นทุน”

กทม.พร้อมแบกภาระ

ด้านนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 โดยในช่วงทดลองให้บริการขณะที่ยังไม่ได้เดินรถเต็มรูปแบบ ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน แต่เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไป

นายประพาส กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิมและไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า อ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ทั้งนี้ จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด กทม.จึงปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ กทม.จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 – 2572 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา กทม.ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จากการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ กทม.สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่สะดวกปลอดภัย และมีประสิทธิภาพต่อไป”

“วิษณุ”รับรัฐยังไร้แผนแก้ขัดแย้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าเรื่องนี้ในทางฝั่งของรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ส่วนกรณีบีทีเอสมีการยื่นหนังสือถึง กทม.ให้ชำระหนี้สินนั้นตนยังไม่ทราบ แต่ก็ควรที่จะเป็นอย่างนั้น

ทั้งนี้เมื่อถามว่าจะต้องลงไปช่วยดูข้อพิพาทส่วนนี้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าจะมีใครมอบหมายหรือไม่ โดยหน้าที่แล้ว กทม.และมหาดไทยจะต้องเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ ส่วนต้องมาถึงตนหรือไม่เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่ได้รับการมอบหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะบานปลายไปหรือไม่ เพราะเกี่ยวกับการโดยสารของประชาชน นายวิษณุบอกว่าก็ตอบไม่ถูกแต่คิดว่าไม่บานปลาย

รายงานข่าวแจ้งว่าบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี  ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 เรื่อง ขอใช้ชำระค่าจ้างเดินรถและค่าซื้อระบบการเดินรถ(ไฟฟ้าและเครื่องกล)พร้อมติดตั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ถึง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด 

สาระสำคัญโดยสรุปคือ บริษัทได้ทวงถามกรุงเทพธนาคมฯชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 8,899,338,642.45 บาท ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ตามที่บริษัทเรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ

ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่า ทั้งกรุงเทพธนาคมและกทม.ต่างตระหนักเป็นอย่างดีมาระยะหนึ่งแล้ว หลักการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ให้กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการ นับตั้งแต่การเปิดให้บริการ 

ห่วงแบกภาระเดินรถระยะยาว

การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบัน ได้อาศัยการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน อยู่ที่ 15 บาท สำหรับการใช้บริการ ตลอดส่วนต่อขยายที่ 1 และไม่เรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน สำหรับการใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับจากค่าจ้างฯ ทำให้เกิดผลขาดทุนแก่ กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่กับบริษัทได้และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงขั้นไม่สามารถให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อีกต่อไปในระยะเวลาไม่นาน เพราะบริษัทคงไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปอีกได้

สำหรับ ในร่างสัญญาการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งได้มีการเจรจาสำเร็จไปแล้ว ตั้งแต่เดือนก.ค. พ.ศ. 2562 ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (“คำสั่ง คสช.ฯ”) จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยเร็วนั้น ก็ยิ่งทำให้ กรุงเทพธนาคม และ กทม. สร้างหนี้สินกับบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่บริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนประมาณกว่า 101,700 ราย และมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก หากกรุงเทพธนาคม และ กทม.ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ ได้ ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีจำนวนถึงกว่า 8,899,338,642.45 บาทนั้น ย่อมจะสร้างความเสียหาย

ชี้ปมรายได้ไม่พอรายจ่าย

“การที่บริษัทฯ ยินยอมตกลงตามหลักการของร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟพาสายสีเขียวนั้น ก็เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะหยุดการที่ กรุงเทพธนาคม และ กทม. จะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบันต่อไปโดยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายคำจ้างให้แก่บริษัทฯ” 

แม้ว่าภายใต้ร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเชียวนั้น บริษัทฯ จะไม่ได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนทันที แต่หากผลประกอบการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไปในระยะยาวดีขึ้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการและเป็นผู้ให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเองก็จะมีโอกาสได้หนี้ที่ค้างชำระนี้คืนได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการในการแก้ไขหนี้ที่แม้จะมีความเสี่ยงกับบริษัทฯ บ้าง แต่ก็ทำให้บริษัทฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก

"หากกรุงเทพธนาคมและ กทม. จะอาศัยการที่บริษัทฯ ไม่ต้องการให้เกิด ความเดือดร้อนแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากการหยุดให้บริการการเดินรถทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มาเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ที่ค้างให้แก่บริษัทฯ และกลับจะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้น โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทฯ จึงขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด

ขีดเส้น60วันเดินหน้าทางกฎหมาย

สำหรับหนี้ค่าจ้างค้างชำระถึงวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมี.ค. 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768,979,836.13 บาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญาของบริษัทฯ เอากับ กรุงเทพธนาคม และ กทม.ต่อไป