จับตา พรุ่งนี้ ! ถกบอร์ด ล้มประมูลสายสีส้ม ไม่รอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
จับตา ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกรถไฟฟ้าสายสีส้ม พรุ่งนี้ หารือล้มประมูลแบบไม่รอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
รายงานข่าวระบุว่า วันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.2564) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีการประชุม เพื่อยกเลิกการประมูลสายสีส้ม โดยจะมีการพิจาณาเหตุผลระยะเวลาที่ศาลปกครองต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลหลังจากขายซองเอกสารไปแล้ว
สำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.2564) จะมีการพิจารณาทางออก 2 แนวทาง คือ
1.ยกเลิกการประมูลครั้งนี้และให้ถอนอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางคดี โดยมอบให้ รฟม.พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2.เห็นชอบในหลัการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลจากข้อเสนอทางเทคนิค (ซอง 2) ร่วมกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ซอง 3) ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้เคยเห็นชอบไว้ โดยมอบหมายให้ รฟม.ทำร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารการคัดเลือกตามหลักการดังกล่าว เพื่เสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 พิจารณา
รวมทั้งให้ รฟม.รายงานกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบการใช้เกณฑ์การประเมินข้อเสนอดังกล่าวเพื่อความชัดเจนก่อนคัดเลือกเอกชนขั้นต่อไป
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้เสนอเลือกแนวทางยกเลิกประมูลสายสีส้มเพราะจขะทำให้การคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการได้เร็วตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่ BTS ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมที่ใช้เกณฑ์การตัดสินคะแนนทางการเงิน 100 คะแนน หลังจากที่มีการปรับมาจะใช้เทคนิค 30 คะแนน และการเงิน 70 คะแนน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2563 นายคีรี กาญจนพาสน์ ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอความเป็นธรรมกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 1.42 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ก่อให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง