‘วันมะเร็งโลก’ สำรวจอันดับมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด
4 กุมภาพันธ์ "วันมะเร็งโลก" ในประเทศไทยโรคมะเร็งชนิดใดบ้างที่คร่าชีวิตคนไทยได้มากที่สุด อ่านได้ที่นี่
วันมะเร็งโลก ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 2000 ในงานประชุม World Summit Against Cancer ที่ปารีส ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก
- ปัญหาโรคมะเร็งจากทั่วโลก
โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก จากสถิติทั่วโลก พบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี
อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 40 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทางป้องกันและรักษาได้ ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลลัพธ์อันน่าทึ่งจากการทุ่มเทศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เรื่องโรคมะเร็งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีวินิจฉัยโรค ตัวยาที่ใช้ ขั้นตอนการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจได้ว่า ต่อให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังรักษาให้หายได้ถ้าเราตั้งใจจริง
- สถานการณ์มะเร็งในไทย
สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่นับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ก็เห็นจะเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 20 ปี ครองแชมป์ตั้งแต่ปี 2542 โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยวันละ 221 ศพ หรือคิดเป็น 80,665 ศพต่อปี และเมื่อเจาะลึกลงไปในข้อมูล เราจะพบผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งเฉลี่ยวันละ 336 ราย หรือคิดเป็น 122,757 รายต่อปี
เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติจะพบว่า ในแต่ละวันมีคนไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ มากกว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงพีคๆ เสียด้วยซ้ำ มะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งจะมาพบกับคุณในขั้นลุกลามระดับใด
- สถิติมะเร็งคร่าชีวิตคนไทย
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งที่พบบ่อยสุดในคนไทย โดยผู้ชายเป็นมะเร็งเฉลี่ย 169.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน ติดอันดับที่ 15 ของเอเชีย สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย 5 อันดับแรก คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ด้านมะเร็งในผู้หญิง จากสถิติพบป่วยเป็นมะเร็ง 151 คนต่อประชากร 1 แสนคน อยู่ในอันดับ 18 ของเอเชีย โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งลำไส้
- มะเร็งปอด
สุดท้ายนี้คำกล่าวที่ว่า "การไม่มีโรค.. เป็นลาภอันประเสริฐ" ก็ยังใช้เป็นข้อเตือนใจได้ดีทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นการดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่ใช่แค่จะช่วยให้ห่างไกลมะเร็งเท่านั้น แต่รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง