พาณิชย์ ดึงนักออกแบบเร่งปรับภาพลักษณ์สินค้าจีไอสู่ระดับพรีเมียม
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 10 รายการ ดึงนักออกแบบมืออาชีพร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์เน้นสร้างภาพลักษณ์สินค้ ให้โดดเด่น คาดช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจีไอสู่ตลาดพรีเมี่ยม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ โดยดึงนักออกแบบมากประสบการณ์ร่วมพัฒนาภาพลักษณ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าจีไอ ให้มีความโดดเด่น สร้างการจดจำตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นสินค้าจีไอ ให้ยังคงอยู่กับตัวบรรจุภัณฑ์ โดยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าจีไอ พร้อมก้าวสู่ตลาดพรีเมียม หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและตลาดต่างประเทศ
โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าจีไอ เป็นโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2560 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้ผู้ประกอบการจีไอ ขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น โดยในปีนี้ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ถึง 83 ราย และผ่านการคัดเลือก 10 ราย ได้แก่ กาแฟเมืองกระบี่ นิลเมืองกาญจน์ กล้วยเล็บมือนางชุมพร แปจ่อเขียวแม่สอด ผ้าหม้อฮ่อมแพร่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ส้มโอหอมควนลัง สังคโลกสุโขทัย ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี และข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ที่ผ่านการคัดเลือกจะมีโอกาสร่วมหารือกับนักออกแบบชื่อดังและกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรตั้งแต่แนวคิดการพัฒนาบรจจุภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นสินค้าจีไอ ไปจนถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่าย ยกระดับสินค้าจีไอสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป คาดพร้อมวางจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ภายในสิ้นปีนี้”
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปีนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาดึงนักออกแบบมืออาชีพมากความสามารถมาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าจีไอ อาทิ นายปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ นักออกแบบที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำอย่างจิมทอมสัน คุณนันทชัย สันทัดการ นักออกแบบ ผู้ก่อตั้ง Design Sense Limited Partnership ผู้ซึ่งกวาดรางวัลด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากว่า 20 รางวัล เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจีไอ และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการจีไอ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมข้ามผ่านสถานการณ์การค้าในยุค New Normal ต่อไป