‘คมนาคม’ เมินถูกเอกชนฟ้อง รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“คมนาคม” ชี้ปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 เพิ่มการคิดคะแนนเทคนิคต้องเปิดฟังความเห็น พร้อมเสนอ ครม. ชี้คาดใช้ประมูลนานขึ้น มั่นใจ รฟม.ชี้แจงได้หากเอกชนยื่นฟ้อง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีกทั้งมติดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ม.36 ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การยกเลิกประมูลโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาข้อเสนอเอกชนนั้น ที่ผ่านมาโครงการลงทุนในกระทรวงคมนาคมเคยยกเลิกประมูลมาก่อน อาทิ โครงการงานโยธาทางด่วนพระราม 3 ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและมีเอกชนยื่นฟ้องต่อศาล ส่งผลกระทบต่อโครงการต้องหยุดชะงักและล่าช้ากว่าแผน ซึ่งท้ายที่สุด กทพ.ยกเลิกและประมูลใหม่และเอกชนก็ไม่ได้ยื่นฟ้องต่อการยกเลิกประมูล
ทั้งนี้ เอกชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อทุกโครงการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว หากพบว่าการดำเนินการของภาครัฐไม่โปร่งใสก็ยื่นฟ้องเพื่อตรวจสอบได้ โดยในส่วนของการยกเลิกประมูลรถไฟฟ้ายสีส้ม กระทรวงคมนาคมเชื่อว่าหากมีเอกชนยื่นฟ้องเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ รฟม.จะชี้แจงได้ เพราะต้องมีการศึกษาผลกระทบและต้องเตรียมคำชี้แจงเอกชนอย่างเหมาะสมแล้ว
สำหรับเหตุผลของการยกเลิกประกวดราคา เบื้องต้นทราบว่าคณะกรรมการ ม.36 เห็นว่ากระบวนการในชั้นศาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ อีกทั้งยังผิดไปจากคาดการณ์ของคณะกรรมการ ม.36 ที่ประเมินว่าจะได้ข้อยุติเรื่องที่เอกชนไปร้องต่อศาล ภายใน 1–2 เดือน ซึ่งปัจจุบันเวลาล่วงเลยมานานแล้ว และอาจกระทบต่อภาพรวมของโครงการ กระทบต่อการเปิดให้บริการ อีกทั้งจะทำให้มีภาระค่าบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี ที่ปัจจุบันงานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ
“หากสาเหตุของการพิจารณายกเลิกประกวดราคาเป็นไปตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเผยต่อสื่อ เกรงว่าหากรอกระบวนการศาลต่อไป ไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะกระทบต่อภาพรวมโครงการ ดังนั้นตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เหลือเวลาไม่มากแล้วที่จะต้องเร่งประมูลหาเอกชนร่วมลงทุน เพราะสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ก่อสร้างจะเสร็จปี 2565 นี้แล้ว” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมประเมินว่าหาก รฟม.มีเวลาจำกัดในการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน แนวทางที่เหมาะสมและใช้เวลาน้อยที่สุดในขั้นตอนประกวดราคา คือ การเดินหน้าขายเอกสารข้อเสนอ (RFP) ตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ในครั้งแรก คือ พิจารณาซองด้านเทคนิค และมาให้คะแนนชี้ขาดที่ซองราคา จากการเสนอให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่ผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นหาก รฟม.จะเริ่มต้นขั้นตอนขายซองใหม่จะใช้เวลาไม่มาก
แต่หาก รฟม.จะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชน ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศเพิ่ม จนเป็นเหตุให้มีเอกชนไปฟ้องร้องในกระบวนการศาล คือ กำหนดให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน ก็มีความจำเป็นที่ รฟม.จะต้องร่าง RFP ใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็น และเสนอร่างดังกล่าวมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนรายงานที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และเปิดประกวดราคาภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งกรณีนี้จะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
แหล่งข่าว ยังระบุด้วยว่า กระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบการดำเนินงานของ รฟม.เกี่ยวกับการประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มในครั้งประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกด้วย เนื่องจากพบว่า รฟม.ประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอของเอกชน โดยไม่ได้หารือกับกระทรวงฯ แต่อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงฯ ต้องการตรวจสอบว่า สคร.มีคำสั่งเป็นข้อบังคับ หรือเป็นเพียงคำแนะนำ