'สุพัฒนพงษ์' รื้องบ1.5หมื่นล้าน 'กองทุนหมู่บ้าน' มุ่งฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

'สุพัฒนพงษ์' รื้องบ1.5หมื่นล้าน 'กองทุนหมู่บ้าน' มุ่งฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

"สุพัฒนพงษ์" สั่งรื้อโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ1.5หมื่นล้าน “นที” ขอทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งก่อนลุยของบเงินกู้ที่กันไว้ให้แล้ว วางแผนสัปดาห์หน้าเชิญเครือข่ายทั่วประเทศนัดถกหาข้อสรุปเดินหน้าต่อแบบเดิม หรือปรับโฉมใหม่

นายนที ขลิบทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ประธานบอร์ดกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ทบทวนโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19วงเงิน1.5หมื่นล้านบาท ที่เสนอของบเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน1ล้านล้านบาท โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนและเครือข่ายกองทุนระดับภาคมาหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน และเมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอบอร์ดกองทุนหมู่บ้านฯ เห็นชอบต่อไป

“โครงการนี้ทำไว้นาน และถูกเว้นว่างไปกว่า1ปีแล้ว จึงต้องมาดูกันใหม่ว่าสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และตอนนี้เกิดการระบาดขึ้นมาอีก ตกลงยังต้องทำอีกไหม หรือต้องเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ต้องหารือกับฝ่ายปฏิบัติงานก่อน โดยจะเริ่มคุยกันตั้งแต่สัปดาห์หน้า ว่ากองทุนแต่ละแห่งมีความพร้อม และความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติหรือไม่ จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรบ้าง หรือว่าจะยังยืนยันว่าทำเหมือนเดิม เช่นเดียวกับวงเงินของโครงการนี้ก็ต้องมาร่วมกันดูอีกที จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอเข้ามายังบอร์ดในครั้งต่อไปตัดสินใจอีกครั้ง”

สำหรับการทำโครงการนี้ ที่ผ่านมา สทบ. ได้จัดทำข้อมูลโครงการเสนอไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว ภายใต้กรอบวงเงิน1.5หมื่นล้านบาทมีเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านฯ มีมากถึง79,604แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมชาวบ้านมากกว่า14ล้านคน กองทุนละ200,000บาท มีสาระสำคัญ คือ เน้นการจ้างงานในพื้นที่ สร้างผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่เพิ่มขึ้น

นายนที กล่าวว่า การไปทบทวนโครงการนี้ ต้องดูว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะการเข้าไปพัฒนากองทุนฯ ทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี โอเดล)เบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะเอาเรื่องนี้เป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างกองทุนหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบบีซีจีขึ้นมาให้ได้เป็นตัวอย่างให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปรับใช้ ซึ่งจากนี้ต้องไปคัดเลือกกองทุนที่มีความพร้อมและต้องการเสนอตัวมาทำเรื่องนี้ โดยรองนายกฯ ได้มอบนโยบายมาแล้วให้เร่งขับเคลื่อนออกมาให้เห็นผลโดยเร็ว

161244312028

ส่วนการพิจารณาศักยภาพของหมู่บ้านนั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่า จากนี้ต้องมีการทบทวนตัวเลขกันใหม่ เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว ตัวเลขเดิมที่มีกองทุนหมู่บ้านระดับเอ บี ซี นั้น ใช้มานานตั้งแต่ปี2555-2561อีกทั้งเมื่อเกิดการระบาดโควิด-19ขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี2562จนถึงปัจจุบันกองทุนหลายแห่งมีสถานะเปลี่ยนไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมาสำรวจกันใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้หลังโควิดจบจะได้เริ่มต้นกันพัฒนาอีกครั้ง เช่นเดียวกับการพิจารณาเรื่องของระบบบัญชี ที่ต้องมาพิจารณากันใหม่ทั้งหมดด้วย

รายงานข่าวแจ้งโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฯมีความล่าช้าเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีการปรับเปลี่ยนในช่วงการปรับ ครม.ครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดทำรายละเอียดโครงการต่างๆมีค่อนข้างมากจึงมีการพิจารณาโครงการค่อนข้างนาน