ผลคุมโควิด-มาตรการรัฐ ปัจจัยฟื้นเชื่อมั่นผู้บริโภค
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.2564 จำนวน2,241คน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563และความเห็นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมพบว่า ส่วนใหญ่ 61.4% เห็นว่าแย่ 35.6% เห็นว่าปานกลางและ 3.0% เห็นว่าดี ส่วนความเห็นของประชาชนต่อรายได้ในอนาคตพบว่าส่วนใหญ่ 48.7% ตอบว่าแย่ลง 45.7% ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและ 5.6%ตอบว่าดีขึ้น
เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดลงจากเดือนธ.ค.2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.1 และพบว่าค่าดัชนียังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมม.ค.เท่ากับ 41.6 ลดลงจาก 43.5 ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 45.1 ลดลงจาก 47.5 ดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 56.8 ลดลงจาก59.2
“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากความวิตกกังวลและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว”
ทั้งนี ้ค่าดัชนีชี้ว่าผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่แม้จะไม่มีการปลดพนักงาน แต่บางคนเริ่มถูกพักงานชั่วคราว ส่งผลต่อเนื่องถึงดัชนีเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซื้อสินค้าคงทน ทั้งรถยนต์ และบ้าน รวมไปถึงดัชนีภาวะค่าครองชีพ อยู่ที่เพียงระดับ 15.8 ต่ำสุดในรอบ 14 ปี เพราะรู้สึกว่าค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภค มองเศรษฐกิจโดยรวมยังย่ำแย่
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิดในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดจนไตรมาส1ของปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส2จนกว่าสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามผลของการควบคุมโควิด-19ในประเทศว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งต้องติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมานี้จะช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด ทั้งโครงการ “เราชนะ”, “คนละครึ่ง” และ“เรารักกัน” รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก
ธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้าไทยยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้ไว้ที่2.8%โดยขอรอดูผลจากมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่นำมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นเม็ดเงินจาก
*โครงการ “เราชนะ”ที่2.1แสนล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น1.2%
*โครงการ“คนละครึ่ง”53,000ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น0.3%
*โครงการ“เรารักกัน”40,000ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น0.2%
หากรวมมาตรการทั้งหมดแล้วจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก1.7 %
“ หอการค้าไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8 % แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจจะช่วยดันจีดีพีโตได้ถึง 3.4 % แต่ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นที่จะส่งผลกระทบทั้งปัจจัยการเมือง ค่าเงินบาท การกระจายวัคซีน ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ”
นอกจากนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยส่งผลให้ไม่มีการปลดคนงาน โดยสามารถรักษาการจ้างงานในระบบไว้ได้6-9แสนคน ช่วยให้มีแรงงานกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจค้าขาย ขนส่ง และกลุ่มอาหาร อัตราการว่างงานไม่เกิน2%และมีโอกาสกลับลงมาอยู่ที่ระดับ1-1.5%ได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดหนี้ครัวเรือนลงได้ โดยคาดว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนอาจจะอยู่ที่ระดับ84-85% และไม่ทะลุเกิน 90 % จากที่ปี 2563 อยู่ที่ 87 % ดังนั้นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจยังมี โดยทางหอการค้าไทยยังไม่ปรับประมาณการณ์จีดีพีไทย โดยจะขอดูสถานการณ์อีกครั้ง