‘นิคมจะนะ’ เอื้อพวกพ้อง ข้อหา(โดด)เดี่ยว ‘นิพนธ์’
หนึ่งใน 10 รัฐมนตรีถูกล็อคเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ "นิพนธ์" ออกมาเก็งข้อสอบฝ่ายค้าน จะเป็นโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ
“ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” ข้อกล่าวหาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุถึงพฤติกรรม รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ “นิพนธ์ บุญญามณี”
“นิพนธ์” ตกเป็นเป้าซักฟอกในครั้งนี้ ควบคู่ไปกับ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ทำให้เขาต้องเก็งข้อสอบ เตรียมคำตอบไว้เคลียร์ทุกข้อกล่าวหากลางสภาฯ
เรื่องที่ “นิพนธ์” พอจะเห็นสัญญาณจากฝ่ายค้าน ที่หยิบยกขึ้นมาโหมโรง โดยเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเขา คงไม่พ้นเรื่องการพัฒนา“โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา” พื้นที่ซึ่งถูกเลือกเป็นเมืองต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2559 และเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแผนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เพื่อสร้างงานให้คนในท้องถิ่น และ
โครงการนี้ได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน
แม้ “นิพนธ์” จะยืนยันถึงการทำงานในหน้าที่ว่า ทำถูกต้องโดยยึดหลักกฎหมายและประโยชน์ส่วนรวมก็ตาม แต่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็ถูกประชาชนในพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด
โดยกลุ่ม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” เคยมาปักหลักค้างคืนประท้วงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 10 ธ.ค.2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล “ยุติ” เดินหน้าโครงการบนพื้นที่ 16,753 ไร่ใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ประกอบด้วย ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม และต.นาทับ
ตามแผนของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จะปรับเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำหน้าที่ดำเนินการจากมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 7 พ.ค.2562 เห็นชอบให้ขยายเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
แต่ระหว่างที่กลุ่ม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ออกมาคัดค้านไม่ให้พื้นที่ “ผังเมืองสีเขียว” สำหรับเกษตกร กลายเป็น “สีม่วง” เพื่อเปิดทางใช้พื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่แล้วพื้นที่ผังเมืองสีเขียวก็ถูกปรับเป็นสีม่วงในเวลาต่อมา จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563
ระหว่างนี้ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ของโครงการ ตั้งแต่การจ้างงาน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จากเวที ศอ.บต. ซึ่งไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้คัดค้านโครงการได้มีส่วนร่วมในเวที โดยเฉพาะ “ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” เป็นประเด็นข้อใหญ่ ที่มีเสียงคัดค้านการก่อสร้าง “นิคมฯ จะนะ” ว่าขัดแย้งกับวิถีชุมชนในการประกอบอาชีพเกษตรกร การประมง และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ที่สำคัญ เสียงวิจารณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างหนักจากกลุ่มคัดค้านมาตลอดว่า มี “กลุ่มการเมือง” ได้ประโยชน์จากการเร่งผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ โดยหนึ่งในนั้นมาจากถ้อยคำ “บรรจง นะแส” นักอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า “เพื่อนที่เป็นสันติบาลบอกมาว่า ตัวละครที่ซ่อนตัวอยู่ในเครือข่ายสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือ ส.ว.ที่สร้างท่าเรือส่วนตัวอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลนาทับ ขนสินค้าส่งออกโดยไร้การตรวจสอบว่า เอาอะไรเข้ามา เอาอะไรออกไป จ่ายไม่อั้น”
ที่ผ่านมา "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง หลังจากรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน และเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนและ "อมรัตน์ โชคปมิตกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงพื้นที่หาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลาเพื่อสำรวจพื้นที่กดดันรัฐบาลให้ยุติโครงการที่เชื่อว่าจะทำลายความสมบูรณ์ของ "จะนะ"
จึงคาดการณ์ได้ว่า “ญัตติ” อภิปรายไม่ไว้วางใจ “นิพนธ์” ครั้งนี้ จะมาจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ลุยเก็บข้อมูลในพื้นที่มาตลอดปี 2563 และเป็น “ข้อสอบ” ที่ประเมินว่า เตรียมเชื่อมโยงไปถึง “นิพนธ์” ในฐานะ รมช.มหาดไทย และ ส.ส.สงขลา หลายสมัย
ต้องไปลุ้นกันว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่นิพนธ์ต้องแก้ข้อกล่าวหา “ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” เขาจะมีพยานหลักฐานออกมาตอบฝ่ายค้านในสภา และโต้กลุ่มการเมืองนอกสภาฯ อย่างไร.