กรมการแพทย์เผยโฉมใหม่ห้องฉุกเฉินในยุค New Normal ER
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ปรับห้องฉุกเฉินรูปแบบใหม่ (New Normal ER) รองรับการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กรมการแพทย์ ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลการการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องฉุกเฉินที่ถือเป็นด่านแรกที่จะต้องพบผู้ป่วย ซึ่งนอกจากต้องคัดกรองความรุนแรง
อย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องประวัติความเสี่ยง เช่น เคยไปสถานที่มีการระบาดมาก่อน เคยสัมผัสบุคคลติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ซึ่งตามปกติขั้นตอนในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล จะมีมาตรการตั้งแต่รับผู้ป่วยจากบ้าน มาถึงจุดคัดกรอง เข้าห้องฉุกเฉิน ทำการรักษา พออาการดีขึ้นหรือคงที่ จึงสามารถส่งไปยังแพทย์เฉพาะทาง
ซึ่งปกติจะมีโต๊ะบริการ พยาบาลคัดกรอง ประชาชนออกันเต็ม ไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่หลังจากมีโควิด-19 ห้องฉุกเฉินทุกที่ปรับตัวในการรับสถานการณ์ เช่น จัดแบ่งพื้นที่ตั้งแต่จุดคัดกรองสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง มีห้องแยกโรคความดันลบ เต้นท์ความดันลบ ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันลบ ตู้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ มีการอบรมความรู้ให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการฝึกสวมใส่และถอดชุดอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงวางระบบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการตามแนวทางการแพทย์วิถีใหม่หรือ New Normal ER จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เช่น พบแพทย์ทางออนไลน์ การจัดส่งยาถึงบ้าน เพื่อลดระยะเวลารอคอยและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวถึง วิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห้องฉุกเฉินดังนี้ 1. มีการป้องกันไม่ให้สัมผัสแตะต้องเนื้อตัวโดยจะเน้นการใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม เพราะพยาบาลคัดกรองจะเป็นด่านแรก 2. ผู้ป่วยที่รอรับบริการ มีการรักษาระยะห่างตั้งแต่ 1- 2 เมตร 3.การปรับรูปแบบของรถกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 โดยให้ทีมเจ้าหน้าที่พยาบาลใส่ชุดป้องกัน PPE ตั้งแต่ไปรับผู้ป่วยที่บ้านจนถึงโรงพยาบาล 4.การซ้อมทีมฉุกเฉิน เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ เช่น วิธีการใส่ท่อช่วยหายใจในห้องความดันลบ 5. การเข็นผู้ป่วยไปห้องไอซียูมีการใส่ชุดป้องกัน และมีการใช้เตียงขนส่งความดันลบ (negative transfer capsule) ขนย้ายผู้ป่วยไปห้องผ่าตัดหรือไอซียู เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ คือ สิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคขั้นพื้นฐานแต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนต้องปฏิบัติทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน คือสวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้ท่านห่างไกล COVID - 19