ส.รถขนส่งจี้รัฐเร่งเยียวยา ตั้ง‘กองทุน’หนุนฟื้นธุรกิจ
โควิดทุบธุรกิจ “รถบัสนำเที่ยว” โอดรัฐยังไม่ช่วยเหลือตรง “สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย” ยื่นหนังสือนายกฯ วอนเร่งเยียวยาเงินช่วยเหลือรถรับจ้างไม่ประจำทางกว่า 4 หมื่นคัน คันละ 5 พันบาท นาน3เดือน วงเงิน600ล้าน พร้อมตั้งกองทุนหนุนซอฟท์โลนฟื้นสภาพรถ
นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับหนังสือพร้อมรับทราบปัญหา ร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไข และจะเร่งนำส่งนายกฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับข้อเรียกร้องของสมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง ซึ่งได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยตรง
โดยนำเสนอ 3 แนวทางหลัก แนวทางแรก "ช่วยลดรายจ่าย" สมาคมฯ ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของผู้ประกอบรถโดยสารไม่ประจำทางกับธนาคารและไฟแนนซ์ รวมถึงให้รัฐร่วมจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง 50% ของเพดาน 15,000 บาท หรือคนละ 7,500 บาท จำนวน 3 เดือน ประมาณ 50,000 คน รวมถึงให้ช่วยเรื่องการยกเว้นค่าภาษีประจำปีรถโดยสาร ค่าปรับต่างๆ ของรถและสถานประกอบการที่ค้างชำระ
แนวทางที่สอง “เสริมสภาพคล่อง” เสนอรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือรถรับจ้างไม่ประจำทาง จำนวน 40,000 คัน คันละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือคันละ 15,000 บาท รวมวงเงิน 600 ล้านบาท นอกจากนี้ ต้องการแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อประกอบธุรกิจให้อยู่รอด โดยขอให้มีการตั้ง “กองทุน” เพื่อปรับปรุงฟื้นสภาพรถที่จะนำมาประกอบกิจการ คันละ 300,000 บาท โดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยการของบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นำมาเพื่อใช้กับโครงการนี้ในดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
สุดท้าย "ช่วยสร้างรายได้" ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดให้เกิดการเดินทางของภาครัฐหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่คลี่คลาย เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการตัดงบประมาณการเดินทางในประเทศจากหน่วยงานต่างๆ
พร้อมกันนี้ ขอให้มีการจัดจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางทั่วประเทศ จังหวัดละ 100 คัน พาประชาชนเดินทางท่องเที่ยวข้ามเขตจังหวัด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แต่ละพื้นที่ หากมีการเดินทางจังหวัดละ 4,000 คน ทั้งประเทศจะมีผู้เดินทาง 300,000 คน สร้างเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท จากการสนับสนุนงบเพียง 76 ล้านบาท ซึ่งการจัดจ้างดังกล่าวขอให้เป็นการจัดจ้างกับบริษัทผู้ประกอบการโดยตรง ไม่ผ่านตัวแทนการท่องเที่ยว