ญี่ปุ่นตั้ง 'รมว. ความเหงา’ รับมือสังคมโดดเดี่ยว

ญี่ปุ่นตั้ง 'รมว. ความเหงา’ รับมือสังคมโดดเดี่ยว

ญี่ปุ่นตั้งรัฐมนตรีประจำ "กระทรวงความเหงา" เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนซึ่งจำนวนมากมีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว อันเป็นผลพวงจากการที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเพราะมาตรการคุมเข้มช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งลดยอดคนฆ่าตัวตายจากความเครียด

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะของญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้งนาย“เทตสึชิ ซากาโมโต” เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งความเหงา ซึ่งจะทำงานในฐานะผู้ประสานงานกับหน่วยงานและกระทรวงต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหานี้ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

“ผู้คนในสังคมญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวและมีความเหงามากขึ้นเมื่อไม่ได้ออกไปพบปะสังสรรกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมาก ผมจึงตัดสินใจแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเชิงลึก” นายซูกะ กล่าว

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ความเหงาเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังไม่ติดต่อหลายโรค เช่น เบาหวาน หรือโรคหัวใจ เพราะความโดดเดี่ยวทำให้แยกตัวออกจากสังคม จนเกิดพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ อย่างออกกำลังกายน้อย โภชนาการอาหารแย่ ไม่ชอบไปหาหมอ ส่งผลต่อระดับความเครียด ความดันโลหิต ที่นำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ ขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้น พบว่า คนอายุมากกว่า 45 ปีที่อาศัยอยู่คนเดียวเสี่ยงตายจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่น

ที่ผ่านมา อังกฤษก็ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงความเหงา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนซึ่งจำนวนมากมีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว โดยตำแหน่งนี้จะเป็นหน้าที่ควบของรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา

ขณะที่หน่วยงานกาชาดของอังกฤษ ระบุว่า คนภายในประเทศจำนวนกว่า 9 ล้านคนมีความรู้สึกเหงาบ่อยๆหรือเหงาตลอดเวลาจากประชากรทั้งหมดเกือบ 66 ล้านคนซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากประชากรอังกฤษที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปจำนวนกว่าครึ่งดำเนินชีวิตตามลำพัง

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุ 2 แสนคนของประเทศบอกว่าไม่ได้คุยกับญาติหรือเพื่อนเป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน