“เอสพีซีจี”ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม พื้นที่อีอีซีครบ 300 เมกะวัตต์สิ้นปีนี้

“เอสพีซีจี”ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม พื้นที่อีอีซีครบ 300 เมกะวัตต์สิ้นปีนี้

เอสพีซีจี เริ่มทยอยติดตั้งโซลาร์ฟาร์มในอีอีซี ตั้งแต่ไตรมาส 3ปีนี้ มั่นใจครบ 300 เมกะวัตต์ในสิ้นปี ตั้งเป้ายอดขายโซลาร์รูฟท็อปปีนี้ 1,000 ล้านบาท พร้อมผนึก PEA ENCOM ศึกษาติดตั้งแบตเตอรี่คาดชัดเจนใน 2 เดือน

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์แรก จะเริ่มติดตั้งโครงการแรกประมาณ 15 เมกะวัตต์ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และทยอยติดตั้งจนครบ 300 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าปัจจุบัน โครงการนี้จะได้รับผลกระทบจากการจัดหาที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีราคาแพงขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัท ตั้งเป้าหมายรักษารายได้ อยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านบาทใกล้เคียงปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายจากโซลาร์รูฟท็อปปีนี้ อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 500 ล้านบาท แต่ก็ต่ำกว่าปกติที่มียอดขายราว 1,500 ล้านบาท ขณะที่กำไรปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น จากการที่บริษัทตั้งเป้าหมายปรับลดค่าใช้จ่ายลง 200 ล้านบาท จากที่ปี 2563 ที่ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 100 ล้านบาท โดยปีนี้บริษัทยังคงงบลงทุนอยู่ที่ 1หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ลงทุนในโซลาร์ฟาร์มอีอีซี ประมาณ 5,000 ล้านบาท และ อีก 5,000 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จเชิงพาณิชย์ในปี 2566

“เราเชื่อว่า หลังไตรมาส 1 สถานการณ์การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมจะดีขึ้น เพราะพ้นเดือนมี.ค.ก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน และน่าจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย”

วานนี้(15ก.พ.) SPCG ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สำหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่อีอีซี 

“ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มีกรอบการทำงานร่วมกัน 2 เดือน ซึ่งจะเกิดความชัดเจนในพื้นที่ติดตั้งแบตเตอรี่ เงินลงทุน และเทคโนโลยีที่จะใช้ ซึ่งจะพิจารณาจาก 4 ประเทศ คือ เยอรมนี จีน เกาหลี และญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ การศึกษาระบบกักเก็บพลังงานในครั้งนี้ จะนำเข้าไปใช้ติดตั้งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในอีอีซี หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมมือกับ PEA ENCOM ผ่านการลงทุนของบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทที่ SPCG ถือหุ้นอยู่ เป็นผู้ก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่อีอีซี ระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 23,000 ล้านบาท

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA) กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) ในพื้นที่อีอีซี อยู่ที่ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มผสมกับการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ต้องยอมรับว่า จะส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าค่อยข้างแพง แต่กำหนดให้ขายไฟฟ้าจากโครงการในราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.)รับซื้อ แต่ก็ต้องดำเนินการเพราะเป็นโครงการนำร่องต่อยอดพลังงานหมุนเวียน ด้วยการทดลองให้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์มุ่งมั่นการขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)