‘ดัชนีความเชื่อมั่น’ รู้เท่าทัน ปรับตัวสู่เศรษฐกิจใหม่

‘ดัชนีความเชื่อมั่น’ รู้เท่าทัน ปรับตัวสู่เศรษฐกิจใหม่

ทำความเข้าใจ "ดัชนีความเชื่อมั่น" สะท้อนภาพเศรษฐกิจแค่ไหน อย่างไรบ้าง? ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สะท้อนภาพภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเป็นอย่างไร และแนวทางการปรับตัวเพื่อรับการเศรษฐกิจควรจะเป็นไปทิศทางใด?

ในฉบับที่แล้วได้เล่าถึงโครงการ Business Liaison Program หรือ BLP ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งเป็น Insight จากการต่อสายตรงไปยังผู้ประกอบการในทุกภาคส่วน ฉบับนี้เราจะพูดถึง “ดัชนีความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นเครื่องชี้เชิงปริมาณที่สำคัญในการช่วยติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

  • ดัชนีความเชื่อมั่นสะท้อนภาพเศรษฐกิจอย่างไร?

ทุกเดือน ธปท.จะสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือน ทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) ที่สำรวจผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ช่วยให้การประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุนและการจ้างงานมีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index : RSI) ที่จัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะสำรวจผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงร้านค้าปลีกในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งสามารถสะท้อนภาวะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ทันต่อสถานการณ์ 

นอกจากนี้เพื่อให้การประเมินภาวะเศรษฐกิจครอบคลุมครบถ้วนทุกภาคส่วน ธปท.ได้ติดตามภาวะความเป็นอยู่ของ “ครัวเรือนฐานราก” ที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เช่น เกษตรกร กลุ่มอาชีพอิสระ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก (Relationship Manager Sentiment Index : RMSI) ที่จัดทำร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากการประเมินของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ ทำให้ทราบถึงความเชื่อมั่นต่อรายได้และภาระหนี้สินของครัวเรือนฐานรากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ข้อมูลจากดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 ดัชนีข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดในเดือน เม.ย.2563 หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ก่อนที่จะเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการ แต่เป็นการฟื้นตัวที่เร็วช้าแตกต่างกัน (Uneven recovery)

สำหรับภาคธุรกิจ ดัชนี BSI ลดลงไปอยู่ที่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีครั้งแรกในปี 2547 และเริ่มปรับดีขึ้นเป็นลำดับ โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตส่วนใหญ่กลับสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว และในบางหมวดสินค้าปรับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด จากอานิสงส์ของการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) 

ขณะที่ความเชื่อมั่นของธุรกิจที่มิใช่การผลิตแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาด โดยเฉพาะหมวดที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสาร ที่ยังได้รับผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำลังซื้อที่เปราะบางของคนไทย

ขณะที่ดัชนี RSI สะท้อนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับลดลงต่ำในช่วงแรกของการระบาด และเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป เห็นได้จากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) และยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด 

161348035679

ด้านดัชนี RMSI ที่สะท้อนความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก ปรับลงไปสู่ระดับต่ำสุดหลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน และปรับดีขึ้นตามมาตรการเยียวยาที่ทยอยออกมา สะท้อนความอ่อนไหวของครัวเรือนฐานรากที่ยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือของภาครัฐ ในการดำรงชีพจากการมีภาระหนี้สิน การไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม และการกระจายรายได้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ

  • ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบแตกต่างกัน

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2563 ข้อมูล BSI ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวลดลงมากที่สุด จากการยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย ตามมาด้วยธุรกิจในภาคการค้าที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น และคาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าภาคที่มิใช่การผลิต 

สำหรับภาคครัวเรือน ความเชื่อมั่นปรับลดไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เนื่องจากความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ที่น้อยลง ทำให้ครัวเรือนฐานรากยังพอมีรายได้อยู่บ้าง และการมีมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประกันรายได้ของเกษตรกร โครงการคนละครึ่ง มาตรการเราชนะ การลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกนี้ได้ซ้ำเติมครัวเรือนให้มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น

  • เร่งปรับตัวรับเศรษฐกิจใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม

การอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 จากที่เรารับฟังเสียงสะท้อนของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ผ่านข้อมูลและเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของ ธปท. ทำให้ทราบว่ามีธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการถาวร ธุรกิจที่เคยมีศักยภาพก็อาจจำเป็นต้องขายกิจการหรือควบรวมกับกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งจากในและต่างประเทศ แรงงานมีทักษะจำนวนมากที่ในอดีตเชื่อว่ามีความมั่นคงในอาชีพกลับตกงาน 

ในขณะที่ธุรกิจและแรงงานที่สามารถฝ่าวิกฤติไปได้ เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ ดังนั้น ในระยะต่อไปหากธุรกิจต้องการอยู่รอดได้ จะต้องปรับตัวและไม่ใช่เป็นการปรับตัวแบบเดิมที่เคยทำมา แต่ต้องเป็นการปรับตัวแบบที่ตรงจุดและยืดหยุ่นเพียงพอ เช่น การผสมผสานช่องทางการขายทางออนไลน์และออฟไลน์ การหารายได้เสริมจากธุรกิจอื่น เป็นต้น เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

ด้านแรงงานก็ต้องมีการยกระดับและปรับทักษะตนเองให้ยืดหยุ่นพอ เพื่อไปทำงานในสายอาชีพอื่นหรือมีทักษะเฉพาะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรจะต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเกษตร เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรให้ดีขึ้น และสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากที่ไหลกลับเข้าภาคเกษตรได้

สำหรับภาครัฐก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น การดำเนินนโยบายต้องรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และตรงจุด เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่เพียงแต่จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่จะต้องเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่มี “รากฐานแข็งแรง” และพร้อมปรับตัวรับเศรษฐกิจใหม่ที่มีความท้าทายมากกว่าเดิม

(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)