ครม. เคาะ ‘3 กลุ่มอาชีพ 13 สาขา’ ปรับค่าจ้างเพิ่ม
กำหนดเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ '3 กลุ่มแรงงาน 13 สาขาอาชีพ' เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล แถลงหลังการประชุม ครม. โดยมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงานฝีมือ
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วันเป็นต้นไป โดยกลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย
1.กลุ่มช่างอุตสาหการ ได้แก่
ช่างกลึง ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 460-630 บาท/วัน
ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ปรับอัตราค่าจ้าง เป็น 470-675 บาท/วัน
ช่างควบคุมเครื่อง Wire Cut ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 480 บาท/วัน
ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 465-630 บาท/วัน
2.กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ได้แก่
ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคารและช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม) ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 450 บาท/วัน
ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (Programmable Logic Controller: PLC) ปรับอัตราค่าจ้างเป็นระหว่าง 450 -540 บาท/วัน
ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า (MICE : Meetings Incentives Conventions Exhibitions) ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 440 บาท/วัน
ช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 450 บาท/วัน
3.กลุ่มช่างเครื่องกล ได้แก่
พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 430 บาท/วัน
ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 415 บาท/วัน
ทั้งนี้ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก ได้ชะลอการออกประกาศฯ ไว้ก่อน เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกให้ครอบคลุมรถบรรทุกทุกประเภทก่อน จึงนำมาพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือต่อไป
สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มแรงงาน 13 สาขาอาชีพดังกล่าว เป็นไปตามที่กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 โดยมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ก่อนหน้านี้แล้ว รวม 83 สาขาอาชีพ เพื่อให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ) อีกทั้งจากเดิมที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศ เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 308 – 330 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลทำให้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในบางสาขาอาชีพต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ