'กัมพูชา' เปิด 'อินเทอร์เน็ตเกตเวย์' สกัดภัยมั่นคง
กัมพูชา ประกาศใช้กฎหมาย "อินเทอร์เน็ตเกตเวย์" คุมการเชื่อมต่อทั้งในและนอกประเทศ อ้างสกัดภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลงนามกฤษฎีกาย่อยเพื่อจัดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (NIG) ด้วยเป้าหมายอำนวยความสะดวกและจัดการจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต
ผู้ให้บริการระบบฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า กฤษฎีกาย่อยดังกล่าวซึ่งถูกลงนามเมื่อวันอังคาร (16 ก.พ.) และเผยแพร่ในวันพุธ (17 ก.พ.) จะจัดตั้งระบบบริการจุดเดียวที่จะนำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศทั้งหมดผ่านจุดให้บริการจุดเดียว
"การจัดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพิ่มการเก็บรายได้ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ และรักษาความเป็นระเบียบทางสังคม"
กฤษฏีกาย่อยข้างต้นเสริมว่า ผู้ให้บริการระบบฯ ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการปิดกั้นและตัดการเชื่อมต่อจากเครือข่ายทั้งหมดที่สร้างผลกระทบต่อรายได้ ความมั่นคง ระเบียบทางสังคม ศักดิ์ศรี วัฒนธรรม ประเพณี และขนบธรรมเนียมของประเทศ
ด้านโฆษกรัฐบาลกัมพูชาเผยกับเอเอฟพีว่า ระบบอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติมีขึ้นเพื่อป้องกันอาชญากรรมออนไลน์และรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
"เจ้าหน้าที่จะจัดการผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ต้องการก่อกบฏต่อรัฐบาล" นายพาย สีพัน โฆษกรัฐบาลระบุ
อย่างไรก็ตาม บรรดานักสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมในกัมพูชาต่างแสดงความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในอนาคต
ระบบอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ของกัมพูชาถูกนำไปเปรียบเทียบกับ "เกรท ไฟร์วอลล์" (Great Firewall) ของจีน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งใช้ในการสอดส่องบรรดาผู้เห็นต่างในอินเทอร์เน็ต และป้องกันไม่ให้พลเมืองเข้าถึงเว็บไซต์สังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมแห่งกัมพูชา (TRC) ระบุว่า กัมพูชามีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ 6 ราย และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 37 ราย
สถิติของรัฐบาลกัมพูชา ระบุว่า มีผู้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 5 ล้านรายในปี 2557 มาอยู่ที่ 20.30 ล้านในปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คในกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 10.9 ล้านราย