“การบินไทย”เร่งตุนเงินสด ยื่นศาลขายทรัพย์สินเพิ่ม

“การบินไทย”เร่งตุนเงินสด  ยื่นศาลขายทรัพย์สินเพิ่ม

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องยื่น “แผนฟื้นฟูกิจการ” ต่อศาลล้มละลายกลางภายในวันที่ 2 มี.ค.2564 หลังจากเลื่อนการส่งแผนมาแล้ว 2 ครั้ง

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องยื่น แผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายในวันที่ 2 มี.ค.2564 หลังจากเลื่อนการส่งแผนมาแล้ว 2 ครั้ง โดยถ้าผ่านการพิจารณาจะนัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 7 พ.ค.2564 ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งรองรับผู้เข้าประชุมได้ 5 พันคน

ในขณะที่การปรับโครงสร้างองค์กรได้ดำเนินการตามแผนเพื่อลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับเที่ยวบินจากวันละ 200 เที่ยว เหลือเพียงเดือนละ 300 เที่ยวบิน

แหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ 1.เร่งเจรจาเจ้าหนี้ 13,000 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติ 300 ราย และเจ้าหนี้ไทย 10,000 ราย เพื่อทำกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 2.ดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายจากครัวการบิน ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน และฝ่ายขนส่งสินค้า (คาร์โก้) 

ขณะนี้การบินไทยเตรียมยื่นขอศาลเพื่ออนุมัติขายทรัพย์สินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องให้กับการบินไทย จากปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือพอใช้ถึงเดือน พ.ค.นี้ หากสามารถขายสินทรัพย์ได้ จะเพิ่มเงินสดในมือเพื่อดำเนินกิจการเพิ่มอีก 1–2 เดือน หรือราว ก.ค.-ส.ค.นี้

“หากการบินไทยดูแลเจ้าหนี้และได้รับความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะเดียวกันหากศาลอนุญาตให้ขายสินทรัพย์เพิ่มเติม การบินไทยจะมีเงินสดในมืออยู่ได้ถึง ส.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงปลายปีที่คาดว่าการบินน่าจะทยอยกลับมาเปิด วัคซีนจะฉีดกระจายเป็นวงกว้าง และเริ่มมีวีซ่าเดินทางให้เฉพาะกลุ่ม”

161365562388

สำหรับการขายทรัพย์สินที่การบินไทยเสนอต่อศาลล้มละลายอนุมัตินั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินทรัพย์ในต่างประเทศ ที่การบินไทยไม่ได้เข้าไปบริหาร เนื่องจากไม่ได้ทำการบินแล้ว อีกทั้งในอนาคตแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ยังจะเน้นการบริหารงานผ่านเทคโนโลยี จึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านอาคารสำนักงานได้ 

โดยปัจจุบันอาคารสำนักงานภายในประเทศ การบินไทยได้เริ่มประกาศเช่าแล้ว เนื่องจากมีการรวมหน่วยงานมาบริหารจัดการภายในอาคารเดียวกัน จึงถือเป็นโมเดลของการลดต้นทุน และเพิ่มรายได้จากการเช่าหรือขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 การบินไทยมีรายได้ต่อเดือน 13,000-14,000 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือน 800-900 ล้านบาท ในขณะที่มีรายได้จ่ายเดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงปลายปี 2563 ประเมินว่ากระแสเงินสดจะมีถึงเดือน มี.ค.2564 ซึ่งตามกำหนดเดิมคาดว่าจะเริ่มแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ต้องเลื่อนการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ครั้ง เพราะมีปัญหาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

นอกจากนี้ ปัจจุบันการบินไทยทำโครงการโครงสร้างองค์กร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการใหม่ ซึ่งกำหนดจำนวนบุคลากรในแต่ละฝ่ายที่ควรจะมีอย่างเหมาะสม โดยพนักงานทุกคนมีสิทธิสมัครอยู่แผนกเดิมหรือย้ายแผนกได้ แต่หากต้องการเสียสละ หลังจากเห็นโครงสร้างองค์กรใหม่แล้วก็เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากได้ โดยการลาออกมีผลวันที่ 1 พ.ค.2564

โครงสร้างองค์การใหม่จะปรับเปลี่ยนภาพการบินไทยเพราะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้นต้องคล่องตัว ปัญหาอุปสรรคการขออนุมัติหลายขั้นตอนจะหมดไป เพราะโครงสร้างใหม่ลดฝ่ายบริหารที่ซ้ำซ้อน ปรับการทำงานใช้ดิจิทัล โดยสำหรับโครงสร้างองค์กรใหม่จะมีหน่วยงานใหม่เกิดขึ้น อาทิ 

หน่วยงานด้าน New S-curve พิจารณาการลงทุนธุรกิจใหม่ เป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กร หน่วยงานด้านดิจิทัล ที่จะต้องเข้ามาทำงานด้านการขายให้มากขึ้น ลดการขายบัตรโดยสารผ่านเอเยนต์ที่เป็นปัญหาขององค์กรมาโดยตลอด และเพิ่มช่องทางขายผ่าน B to B หรือ หน่วยงานกับหน่วยงาน หน่วยงานด้าน Strategic stakeholders เพื่อดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรโดยตรง

อีกทั้งการบินไทยจะแยกหน่วยธุรกิจเกิดใหม่ที่มีความสามารถในการหารายได้ อาทิ ธุรกิจคาร์โก้ ซ่อมบำรุงอากาศยาน และครัวการบิน โดยหน่วยธุรกิจใหม่จะมีผู้จัดการบริหารโดยตรง ทำให้การแยกธุรกิจคล่องตัวและหารายได้จากองค์กรภายนอกได้เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืน

รวมทั้งขณะนี้ทุกหน่วยเดินหน้าหารายได้ เช่น ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ โดยสร้างรายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 9,200 ล้านบาท และเฉพาะในเดือน ม.ค.2564 สร้างรายได้ 700 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขนส่งสินค้า 500 ล้านบาท และบริการยกสินค้า 200 ล้านบาท มีเที่ยวบิน 328 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) รวมน้ำหนัก 7 พันตัน

 สำหรับความคืบหน้าจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) กำลังเร่งทำแผนทางการเงิน เพื่อจัดส่งแผนฟื้นฟูดังกล่าวต่อศาลล้มละลายตามกำหนด 2 มี.ค.นี้