ปตท.ตั้งบริษัทลูก ยื่นขอ 'ชิปเปอร์แอลเอ็นจี' รายใหม่
ปตท.ตั้งบริษัทใหม่ ยื่นขอเป็น “ชิปเปอร์แอลเอ็นจี” รายใหม่ ด้าน กกพ. เบรกอนุมัติ เอ็กโก กรุ๊ป และ บี.กริม ขอเพิ่มวอลุ่มนำเข้า เหตุ รอ กพช.เคาะโครงสร้างกิจการก๊าซฯใหม่ ให้ชัดเจน
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีบริษัทเอกชนรายใหม่ ซึ่งพบว่า มีบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้ ได้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) หรือ ชิปเปอร์แอลเอ็นจีรายใหม่ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้ามาในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ โดยเบื้องต้น จะยังไม่มีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(บอร์ด กกพ.) เนื่องจากเอกสารยังไม่ครบถ้วน และอยู่ระหว่างการประสานให้บริษัทดังกล่าวจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติม
“ยังไม่สามารถเปิดรายละเอียดของบริษัทนี้ได้ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งทาง กกพ. ต้องรอการพิจารณาข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วนก่อน ทั้งสัดส่วนผู้ถือหุ้น ปริมาณนำเข้าLNG และสัญญาลูกค้าใหม่ในมือ”
อย่างไรก็ตาม หาก ปตท.จะจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อมาขอรับใบอนุญาต LNG Shipper ก็ไม่ได้ติดขัดในหลักการ แต่ทาง กกพ.จะต้องพิจารณาให้ดีว่า โครงสร้างการดำเนินธุรกิจLNG ของ ปตท.แม่ และบริษัทใหม่ ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน เช่น บริษัทใหม่ จะต้องมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับ Shipper รายอื่นๆในตลาดเสรี ต้องทำธุรกิจจัดหา LNG เท่านั้น และต้องมีสัญญาลูกค้าใหม่ในมือ ขณะที่ ปตท.แม่ ที่มีบทบาทจัดซื้อก๊าซฯในอ่าวไทย ก็มีขอบเขตที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐและไม่มาแข่งขันในตลาดเสรี
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดการยื่นเป็น “ชิปเปอร์รายใหม่” ของกลุ่มปตท. แต่การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติในตลาดแข่งขันเสรี เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกที่เดิมปตท.ดำเนินการมาหลายปี และได้แยกธุรกิจออกไปอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR ก็เป็นการเข้าไปแข่งขันในเสรี อยู่ภายใต้กฎ กติกาเดียวกันในการค้าเสรี
“ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ปตท.จะมี ชิปเปอร์ ที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดเสรีของก๊าซฯ ขณะเดียวกันบริษัทแม่ คือ ปตท. ก็ยังคงทำหน้าที่ดูแลข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) ซึ่งก็กำกับโดย กกพ. อยู่แล้ว ปตท.ก็เป็น Operator รายหนึ่งเท่านั้น”
ส่วนสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ระยะสั้นตลาดจร(Spot) ล่าสุด เริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6-8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากก่อนหน้านี้ที่ราคาขึ้นไปแตะระดับ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ปีนี้ จะเห็นการนำเข้า Spot LNG ของ ปตท.หรือไม่ ยังต้องรอดูสถานการณ์ราคา LNG เทียบกับสูตรราคา Pool GAS ด้วย ซึ่งปตท. จะพยายามบริหารจัดการให้เกิดสมดุลทั้งความมั่นคงในการใช้ก๊าซฯของประเทศ และต้องเป็นราคาที่ดีที่สุดต่อประเทศ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า บอร์ด กกพ.ได้พิจารณากรณีที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ยื่นขอใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) แล้ว แต่บอร์ด กกพ.ยังไม่มีมติในเรื่องนี้ เนื่องจากมีความเห็นว่า ควรรอให้ทางคณะทำงานพิเศษพิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทางกระทรวงพลังงาน แต่งตั้งขึ้น พิจารณาแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) อนุมัติก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในโครงการสร้างก๊าซฯใหม่ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการขอเป็นชิปเปอร์แอลเอ็นจี รายใหม่ของ เอ็กโก กรุ๊ป นั้น ไม่ได้ติดขัดอะไร และมีคุณสมบัติครบถ้วน เพราะเป็นก๊าซฯส่วนที่เกินจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวกับ ปตท. ใน ปริมาณราว 2 แสนตันต่อปี
รวมถึง กรณีของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ที่ยื่นเรื่องต่อ กกพ.เพื่อขอเพิ่มปริมาณนำเข้า LNG จากเดิมได้รับอนุมัติแผนนำเข้าปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปีในปี 2566 นั้น ทาง กกพ. ก็จะยังไม่พิจารณาในเรื่องนี้ เพราะต้องรอความชัดเจนจาก กพช.ในการอนุมัติแผนโครงการสร้างก๊าซฯใหม่เช่นกัน
“การขอใบอนุญาตชิปเปอร์แอลเอ็นจี ไม่ใช่เรื่องยาก ใครมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ได้รับการพิจารณา แต่การที่ได้ใบอนุญาตฯไปแล้ว จะสามารถนำเข้าได้จริงหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทงศ์ และเทอร์มินัล ถูกออกแบบให้รองรับก๊าซฯวอลุ่มใหญ่ และมีเวลากำกับต้องเอาก๊าซฯออกเมื่อใด เพื่อไม่ต้องการให้เอาก๊าซมาแช่ไว้ในแทงค์ ซึ่งจะเป็นการบล็อกรายอื่น ฉะนั้น หากลูกค้าในมือน้อย ก็อาจมีความเสี่ยง และไม่สามารถทำได้ตามกติกา TPA Code กำหนดไว้”