ส่องความคืบหน้า 'ดิจิทัลหยวน'
จับตาความคืบหน้าการทดสอบการใช้เงิน "ดิจิทัลหยวน" ในปักกิ่ง ต่อเนื่องจากช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.ปี 2563 ที่จีนเริ่มทดสอบในเมืองต่างๆ 9 เมือง ที่คาดว่าเพื่อรองรับการออกดิจิทัลหยวนอย่างเป็นทางการก่อนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่ง ที่จะจัดขึ้นในปี 2022
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่ถูกพูดถึงกันมาก คือการเข้าซื้อคริปโตเคอเรนซี สกุลบิทคอยน์ (Bitcoin) ของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของอีลอน มัสก์ เป็นเงินสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์
ในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้น ก็มีข่าวคราวของเงินดิจิทัลที่น่าสนใจอีกข่าวหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ดังเท่า แต่มีความสำคัญไม่น้อย นั่นคือ ความคืบหน้าการทดสอบการใช้เงิน “ดิจิทัลหยวน” ในปักกิ่ง โดยเป็นการสุ่มแจกซองแดงดิจิทัลเป็นเงิน 200 หยวน (ประมาณ 1 พันบาท) ต่อคน จำนวนทั้งสิ้น 50,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 10 ล้านดิจิทัลหยวน โดยผู้ได้รับสิทธิผ่านระบบล็อตเตอรี่สามารถใช้เงินดิจิทัลหยวนนี้กับร้านค้าต่างๆ ได้จนถึงเมื่อวานนี้ ซึ่งนอกจากในปักกิ่งแล้ว ยังจะมีการทดสอบในเมืองซูโจว โดยใช้เงินอีกประมาณ 30 ล้านดิจิทัลหยวน โดยผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลนี้สามารถใช้จ่ายกับร้านค้ากว่าหมื่นแห่งได้ถึง 27 ก.พ.ปีนี้
ทั้งนี้ ทางการจีนได้เริ่มทยอยทดสอบการใช้ดิจิทัลหยวนมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีที่แล้วในเมืองต่างๆ 9 เมืองด้วยกัน โดยคาดว่าเพื่อรองรับการออกดิจิทัลหยวนอย่างเป็นทางการก่อนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่ง ที่จะจัดขึ้นในปี 2022 นี้
หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วเงินดิจิทัลหยวน มีความแตกต่างจากเงินหยวน ที่มีการแลกเปลี่ยนกันผ่านแอพ WeChat Pay และ Alipay อย่างไร? ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ในสายตาผู้ใช้เงิน หลักๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันนัก เพราะเงินดิจิทัลหยวนนี้ ออกโดยธนาคารกลางของประเทศจีน เช่นเดียวกับเงินหยวนที่เป็นธนบัตร หรือเงินหยวนที่คนจีนโอนซื้อขายของกันผ่านแอพนั่นเอง
ความพิเศษเล็กน้อยแต่สำคัญ ที่ดิจิทัลหยวนมีเหนือกว่าเงินหยวนในกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมๆ ก็คือ การจ่ายเงิน หรือโอนเงินระหว่างกันนั้น สามารถกระทำได้แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต (Off-line) ซึ่งทำให้สามารถโอนเงินให้กันได้ แม้ว่าจะเจอกันตามป่าเขา ห่างไกลความเจริญ หรืออยู่ในเมืองแต่เน็ตล่ม (ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติเดียวกันกับเงินสดที่เราถืออยู่นั่นเอง)
เชื่อว่าในที่สุดแล้วดิจิทัลหยวน จะเข้ามาแทนที่การใช้เงินสดทุกรูปแบบในประเทศจีน และทำให้คนชนบทที่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวนมาก เข้าถึงเงินดิจิทัลได้ (ขอเพียงมีสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องมีเน็ต ก็เพียงพอแล้ว)
อาจจะยังคงมีคนสงสัยอยู่ว่า ถ้าจะต่างกันเพียงเท่านี้ แล้วธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะสร้างเงินดิจิทัลขึ้นมาทำไมให้เหนื่อยแรง? สิ่งที่เงินดิจิทัลอาจเป็นได้ในอนาคตอันยาวไกล (ทั้งนี้ ขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศ) ก็คือ ทางการสามารถควบคุมได้ว่าผู้ใช้เงิน จะสามารถโอนเงินดิจิทัลให้ใครได้ และไม่สามารถโอนเงินให้ใครได้ หรือไม่สามารถนำเงินไปใช้ในเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งหลักๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ธนาคารกลางอาจดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ เช่น กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้กับกิจการขนาดเล็ก (SME) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็จะไม่สามารถนำเงินดิจิทัลไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ได้ เพราะอาจจะโอนไปไม่ได้ หรือกิจการขนาดใหญ่ได้เงินแล้ว ก็เอาไปใช้ต่อไม่ได้ เนื่องจากเงินดิจิทัลที่ได้มานั้น มีเงื่อนไขที่ถูกโปรแกรมมาในตัวเงินนั้นเลย ไม่ต้องไปหาอ่านสัญญากฎระเบียบอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก
เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency - CBDC) นั้น แม้จะเป็นเงินดิจิทัลเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างจากคริปโตเคอเรนซี อย่างบิทคอยน์ เป็นอย่างมาก โดย CBDC จะมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ผันผวนต่ำ เนื่องจากเป็นเงินที่รับรองโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ และธนาคารกลางมีหน้าที่บริหารจัดการค่าเงินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากบิทคอยน์ ที่การขึ้นลงของมูลค่าเป็นไปตามปริมาณเทียบกับความต้องการ นอกจากนั้น CBDC ไม่มีต้นทุนการทำรายการ ในขณะที่บิทคอยน์นอกจากจะทำ off-line ไม่ได้แล้ว ยังมีต้นทุนการทำรายการในปัจจุบันที่สูงถึง 10-20 เหรียญฯต่อรายการ (เป็นเหตุให้ใช้บิทคอยน์ซื้อกล้วยแขกได้ลำบาก ยกเว้นต้องจ่ายเงินค่ากล้วยแขก มากพอๆ กับการจ่ายเงินซื้อรถ Tesla)
แต่สิ่งที่แลกมากับความดีงามข้างต้นของการใช้ CBDC นั้น ก็คือผู้ใช้มีโอกาสถูกติดตามการทำธุรกรรมใดๆ โดยทางการ ซึ่งแตกต่างจากบิทคอยน์ที่รายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น จะถูกสอบยันระหว่างกันอย่างอิสระ โดยไม่มีทางการเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะเหรียญฯนั้นมีสองด้านเสมอ ขึ้นกับว่าเราจะให้ความสำคัญกับด้านใดมากกว่ากัน…