หุ้น “แบงก์”น่าช้อปแค่ไหน หลังวัคซีนมาถึงไทย
เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการวิเคราะห์กลุ่มแบงก์ของไทยในมุมมองของ “เครดิต สวิส “ ออกมาว่าถึงเวลาที่หุ้นในกลุ่มนี้กลับมาน่าสนใจลงทุน ด้วยปัจจัยบวก 3-4 ประเด็นน่าสนใจและสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สถานการณ์วัคซีนกำลังเข้ามาถึงประเทศไทย วันที่ 24 ก.พ. นี้ด้วย
ที่ผ่านมากลุ่มแบงก์เจอแรงกดดันจากความกังวลมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง ลด ชะลอ การจ่ายหนี้ ทำให้เมื่อหมดความช่วยเหลือหนี้พุ่งสูงจนอาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งสถานการณ์แม้ว่าจะดีขึ้นจากการรายการลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ตามมาด้วยผลประกอบการไตรมาส 4 และปี 2563 แบงก์ขนาดใหญ่ยังอยู่ในโหมดรัดกุม ด้วยการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียงจนทำให้มองได้ว่าอาจจะมีปัจจัยลบที่คาดไม่ถึง ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงๆจากการระบาดโควิด -19 ระลอก 2
ดังนั้นข่าวลบจากการตั้งสำรองฯเพื่อรองรับกลายเป็นข่าวเชิงบวกให้กับกลุ่มแบงก์ รวมทั้งความคืบหน้าที่ชัดเจนฉีดวัคซีนให้ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกนั้นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งย่อมดีต่อหุ้นวัฎจักรเศรษฐกิจ อย่างกลุ่มแบงก์ตามไปด้วย
“เครดิต สวิส” มองว่า ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มแบงก์น่าสนใจลงทุน คือ ความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อในปีนี้ลดลงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ ความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ผ่อนคลายหลังลูกหนี้ที่เข้าโครงการกลับมาชำระหนี้ตามปกติดีขึ้นและใหล้เคียงกับช่วงปี 2562 เกิดการระบาด
ดังนั้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROE) ในกลุ่มแบงก์จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 6.4 % ในปี 2564 และตัวเลขจะขึ้นไปอยู่ที่ 7 % ปี 2565 จากปลายปี 2563 อยู่ที่ 5.8 % จึงทำให้มองได้ว่าทิศทางการปรับตัวขึ้นไปเป็นไปทางบวก พร้อมกับสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งรับมือผลกระทบจากการระบาด
ทั้งนี้ในกลุ่มยกให้ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดดเด่นด้วยการปรับเพิ่ม อัตรากำไร (EPS) เพิ่มขึ้น 33 % จากได้ประโยชน์ลูกค้าเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือมากที่สุดสามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ
โดยมีเป้าหมายทางการเงินปีนี้ที่ธนาคารวางไว้ดีกว่าที่ประเมินจึงปรับราคาเป้าหมายจาก 133 บาทเป็น 174 บาท และให้กำไรปี 2564-2566 อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท 36,200 ล้านบาท และ 44,400 ล้านบาท ตามลำดับ มีอัตราปันผลอยู่ที่ 3.1 % 3.5% และ 3.8 % ตามลำดับเช่นกัน
ถัดมา ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดคาดว่ากำไรในปี 2564 จะปรับตัวแตะ 3.27 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.57 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 4.06 หมื่นล้านบาทในปี 2023 อัตราการเติบโตEPS ปี 2564-2566 อยู่ที่ 20.2%, 9.3% และ 13.7% ตามลำดับโดยเพิ่มขึ้นจากอัตราเติบโต -32.7% ในปี 2563 นอกจากนั้นยังคาดว่า SCB จะให้ Dividend Yield ในปี 2564-2565 อยู่ที่ 4.1 % 4.5 % และ 5.2 % ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ปรับลดคาดการณ์กำไร 2564-2565 ลงจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น ข้อดีคือไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของกิจการธนาคาร Premata จึงเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 155 บาท จากเดิม 154 บาท
ทิศทางกลุ่มธนาคารสอดคล้องตัวเลขเปิดเผย มีกำไรสุทธิในปี 2563 จำนวน 146.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และ NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 523.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.12% แต่ด้วยระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง มีเงินกองทุนเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง จึงพอทำให้สบายใจได้ว่ายังรองรับผลกระทบโควิด-19 ได้นั้นเอง