เปิด 3 บริการใหม่ในโรงพยาบาลสังกัดกทม.1 มี.ค.นี้
กทม.ผนึกสปสช. เดินหน้าให้บริการสุขภาพแบบ New Normal เปิด 3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19 เจาะเลือดผู้ป่วยถึงบ้าน พบแพทย์ผ่าน Telemedicine แล้วไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เริ่มให้บริการ 1 มี.ค.2564
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอก 3.9 - 4 ล้านครั้ง/ปี ผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ
ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงได้พัฒนารูปแบบบริการในเชิงรุก ลงไปให้บริการผู้ป่วยถึงบ้านและในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีความลำบากในการเดินทาง ลดการมารอพบแพทย์จนเกิดความแออัดที่โรงพยาบาล อีกทั้งเป็นบริการสุขภาพแบบ New Normal ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งมีความอ่อนไหวทางสุขภาพอยู่แล้วอาจสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ได้ ทั้งในระหว่างเดินทางหรือในโรงพยาบาลก็ตาม
โดยโครงการเจาะเลือดถึงบ้าน เน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ประกอบด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายรับข้อมูลผู้ป่วย แผนที่บ้านพร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายและเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน แล้วนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเพื่อตรวจวิเคราะห์ผลต่อไป
กรณีรับบริการรักษาทางไกลหรือ Telemedicine ได้ ข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call รวมถึงบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ โดยหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่าน Video Call และสั่งจ่ายยาแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล ทางเภสัชกรจะแพ็คยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยหรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับยาที่ร้านยาหรือรอรับยาที่บ้านได้เลยโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
"3 โครงการนี้เบื้องต้นจะเน้นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิกในกลุ่มโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ในโรงพยาบาลในสังกัด กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.จะมีการปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการเพื่อสนับสนุนให้บริการสุขภาพแบบ New Normal เกิดขึ้นได้จริง ประกอบด้วย การปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเจาะเลือดและเก็บสิ่งตรวจนอกหน่วยบริการ ในระยะแรกเน้นเจาะเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี เป็นหลักก่อน ซึ่งการเจาะเลือดนอกหน่วยบริการนี้จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้ 2-5 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน สปสช.ยังได้พัฒนาการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telemedicine โดยเน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี แพทย์สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาหาถึงโรงพยาบาล โดย สปสช.กำหนดอัตราจ่ายแก่หน่วยบริการสำหรับบริการ Telemedicine ใน ส่วนขั้นตอนการรับบริการนั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่ามีอาการคงที่ พร้อมที่จะรับการรักษาผ่านระบบ Telemedicine หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะแจ้งให้ทราบและสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นพยาบาลจะติดต่อชี้แจงข้อตกลง วิธีการตรวจทางไกลและนัดหมายผู้ป่วย
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการรับยา สปสช.มีโครงการรับยาใกล้บ้านและรับยาทางไปรษณีย์ ซึ่งดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีร้านยาในเขต กทม. 30 แห่ง ที่พร้อมให้บริการผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ซึ่งข้อดีอีกประการของการรับยาที่ร้านยาคือผู้ป่วยจะมีเวลาพูดคุยรับคำปรึกษาเรื่องยากับเภสัชกรได้นานกว่าที่โรงพยาบาล อีกทั้งเภสัชกรจะช่วยติดตามอาการเบื้องต้นและประเมินผลการใช้ยาให้อีกทางหนึ่งด้วย
“3 โครงการนี้เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้การให้บริการสุขภาพแบบ New Normal มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานโดยไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลารอคอย ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ลดความแออัดที่โรงพยาบาลอีกทางหนึ่งด้วย" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว