3บริการสุขภาพแบบใหม่ รับยุคโควิด-19
กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีประชากรขึ้นทะเบียนหลักประกันสุขภาพและสิทธิต่างๆ รวมประมาณ 8 ล้านคนโรงพยาบาล11 แห่ง ได้ให้บริการผู้ป่วยผู้ป่วยนอก 3.9 - 4 ล้านครั้ง/ปี ผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย
อัตราจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนานประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกับสำนักงานหลักสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้เปิด 3 บริการสุขภาพ วิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19 ในหน่วยบริการสังกัด กทม.ประกอบด้วย บริการเจาะเลือดถึงบ้าน บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine และบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์
เป็นการพัฒนารูปแบบบริการในเชิงรุก ลงไปให้บริการผู้ป่วยถึงบ้านและในชุมชน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีความลำบากในการเดินทาง ลดการมารอพบแพทย์จนเกิดความแออัดที่โรงพยาบาล อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยมีความอ่อนไหวทางสุขภาพอยู่แล้วอาจสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ได้ โดยในส่วนของ 3 บริการสุขภาพแบบ New Normal นี้ เบื้องต้นแม้จะเริ่มต้นใน 9 โรงพยาบาล แต่หลังจากนี้จะมีการขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัดกทม.รวมถึงจะครอบคลุมผู้ป่วยในหลากหลายโรคมากขึ้น เพื่อให้กทม.เป็นเมืองที่ผู้คนมีสุขภาพที่ดี
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าโครงการเจาะเลือดถึงบ้าน ขณะนี้จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ อย่าง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน โดยแพทย์ จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน
ดังนั้น หากอาสาสมัครในพื้นที่หน่วยบริการต่างๆ ต้องการให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ เข้ารับการรักษาต้องสอบถามไปยังโรงพยาบาลว่าสามารถเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายผู้ป่วย แผนที่บ้านพร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายและเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้านแล้วนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเพื่อตรวจวิเคราะห์ผล
ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับบริการรักษาทางไกลหรือTelemedicine ได้ ข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call
โดยหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่าน Video Call และสั่งจ่ายยาแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล ทางเภสัชกรจะแพ็คยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยหรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์
“นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.กล่าวว่าจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนต้องดำเนินการตามวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งการใช้บริการสุขภาพก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยทางกทม.ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาประยุกต์ใช้ในการให้บริการตามแบบวิถีชีวิตใหม่ เพื่อลดการสัมผัส การเว้นระยะห่างทางกายภาพ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น โดยจะเริ่มให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 เป็นต้นไป
ด้าน “นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสปสช.ที่จะดำเนินการในปี 2564 นี้ จะทำให้เกิดการบริการที่เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น โดย สปสช.จะปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการเพื่อสนับสนุนให้บริการสุขภาพแบบ New Normal เกิดขึ้นได้จริง อาทิ ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเจาะเลือดและเก็บสิ่งตรวจนอกหน่วยบริการ ระยะแรกเน้นเจาะเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดีเป็นหลักก่อน ซึ่งการเจาะเลือดนอกหน่วยบริการนี้จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้ 2-5 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันการพัฒนาการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telemedicine โดยเน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี แพทย์สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาหาถึงโรงพยาบาล โดย สปสช.กำหนดอัตราจ่ายแก่หน่วยบริการสำหรับบริการ Telemedicine
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนในการจ่ายเงินชดเชย หรือการใช้บริการ ใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่รองรับได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่โรงพยาบาลกำหนด หรือแอปพลิเคชัน MorBMA (หมอกทม.) โดยเจ้าหน้าที่จะทำการยืนยันตัวตนผู้ป่วย ตรวจสอบสิทธิการรักษา จัดเตรียมประวัติการรักษาและนัดหมายเวลาพบแพทย์ให้ เมื่อถึงเวลานัดก็ทำการเชื่อมต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมาตรฐาน และทั่วถึง