'ดุสิตธานี' ลุ้นธุรกิจฟื้นครึ่งปีหลัง เร่งสปีดหลังทั่วโลกปลดล็อด
เมื่อวิกฤติโควิด-19 รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คิด! ฉุดผลประกอบการของ “กลุ่มดุสิตธานี” ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,011 ล้านบาท ลดลง 415.9% จากปี 2562
ขณะที่รายได้รวมปี 2563 ทั้งจากธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร และอื่นๆ อยู่ที่จำนวน 3,320 ล้านบาท ลดลง 2,797 ล้านบาท คิดเป็น 45.7% จากรายได้รวม 6,117 ล้านบาทของปีก่อน
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าผลประกอบการของดุสิตธานีในปี 2563 จะประสบภาวะขาดทุน แต่ก็เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารคาดการณ์ไว้ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งระลอกแรกในช่วงปี 2563 และระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีเดียวกัน ทำให้การเดินทางหยุดชะงักและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง!
อย่างไรก็ตามด้วยการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบของดุสิตธานี ผนวกกับกลยุทธ์หลักของบริษัทฯที่เน้น “การกระจายความเสี่ยง” ให้กับธุรกิจ ด้วยการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
“ธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของและรับเป็นผู้บริหารต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โรงแรมต้องหยุดให้บริการในช่วงไตรมาสที่ 2 จากการแพร่ระบาดในระลอกแรก จนเมื่อการเดินทางผ่อนคลายได้บ้างเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว จึงเริ่มเห็นสัญญาณการค่อยๆ ฟื้นตัวของรายได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสเพิ่มขึ้น 60.3% แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกสองในปลายปีที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ยังเห็นความคืบหน้าการแจกจ่าย “วัคซีน” ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคลากรที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นลำดับแรกๆ โดยทีมงานของดุสิตธานีในประเทศต่างๆ ได้รับการฉีดวัคซีนกันเป็นส่วนมากแล้ว ทำให้บริษัทเริ่มมั่นใจว่าจะเห็นการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
“ที่ผ่านมากลุ่มดุสิตธานีไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ปรับโมเดลเดินหน้าสร้างรายได้ผ่าน non-room business และเตรียมการรองรับกับการกลับมาของการท่องเที่ยว”
สำหรับธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มดุสิตธานียังคงมีแนวโน้มที่ดี โดย “ธุรกิจการศึกษา” ในส่วนของวิทยาลัยดุสิตธานีสามารถรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 17% โดยทางวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ตอบรับกับความต้องการของผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อหารายได้เสริมและไปประกอบวิชาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจการศึกษาให้เติบโตต่อเนื่องด้วยการเปิดโครงการ Food School เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับตลาดบน
เช่นเดียวกับ “ธุรกิจอาหาร” ที่ยังมีแผนเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งปัจจุบันรายได้จากธุรกิจอาหารยังเป็นไปตามเป้าหมาย รายได้หลักยังคงมาจาก Epicure Catering ซึ่งให้บริการจัดหาอาหาร (Catering) ให้แก่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 ในขณะที่ธุรกิจอาหารภายใต้แบรนด์ “คาวาอิ” ในปีที่ผ่านมาได้เพิ่มจุด grab & go ที่เวอร์จิน ฟิตเนส คลับ อีก 3 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ และตึกเอ็มไพร์ ส่วนปีนี้จะเปิดแฟลกชิปสโตร์ (Flagship Store) เพิ่มในเดือน พ.ค.นี้
ด้าน “ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” กลุ่มดุสิตธานีจะเริ่มเปิดการขายโครงการที่พักอาศัย “ดุสิต เรสซิเดนเซส” ในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ให้กับลูกค้าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หลังจากที่มียอดขายจาก Private sales ในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่มีความหลากหลายของกลุ่มดุสิตธานี ทำให้บริษัทสามารถสร้างสมดุลให้กับธุรกิจได้ แม้ว่ารายได้หลักจะมาจากธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของกลุ่มดุสิตธานีต้องหยุดชะงัก
“และหลังจากนี้กลุ่มดุสิตธานีเชื่อว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ภายใต้ฐานรากที่แน่นหนา เพราะบทเรียนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว ลดค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด และการแสวงหารายได้ก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อโลกปลดล็อคจากโควิด-19 เชื่อว่าฐานรากที่เราวางไว้จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานีกล่าวปิดท้าย