ศาลตัดสินคดี กปปส. รวมความเคลื่อนไหว 'สุเทพ' และ '3 รมต.' นอนคุก
ศาลพิพากษา คดี "กปปส." จำคุก โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย รวม "สุเทพ" 3 รมต. "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" จำคุก 7 ปี "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" จำคุก 6 ปี 16 เดือน "ถาวร เสนเนียม จำคุก" 5 ปี
หลังจาก วานนี้ (วันที่ 24 ก.พ. 2564) ศาลตัดสินคดี กปปส. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับพวกรวม 39 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น ๆ กรณีม็อบ กปปส. ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557
โดยกรณีนี้ศาลพิจารณาฐานความผิดหลายกรรมหลายวาระ จึงให้ลงโทษแต่ละกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วย วาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล ฐานร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น ฐานร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น รวมถึงฐานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนผู้ร่วมกระทำความผิด ฐานร่วมกันยุยง และฐานร่วมกันบุกรุก อย่างไรก็ดีทางพิจารณาจำเลยดังกล่าวนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงโทษให้กระทงละ 1 ใน 3
ส่วนในความผิดข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 นั้น ศาลพิจารณาแล้วพบว่า จำเลยทั้งหมดไม่เข้าข่าย
ศาลพิพากษาจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย รวม ‘สุเทพ’ 3 รมต.
ศาลตัดสินคดี กปปส. พิพากษาให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน นายถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน นายสุริยะใส กตะศิลา 2 ปี เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) จำคุก 4 ปี 8 เดือน นายอิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำคุก 3 ปี นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำคุก 2 ปี นายสุริยะใส กตะศิลา จำคุก 2 ปี นายคมสัน ทองศิริ จำคุก 2 ปี นายสำราญ รอดเพชร จำคุก 2 ปี 16 เดือน และนายอมร อมรรัตนานนท์ จำคุก 20 เดือน
'สุเทพ’ กับพวกรวม 8 รายและ 3 รมต.นอนคุกรออุทธรณ์พิจารณาให้ประกันหรือไม่
เย็นวานนี้ ทนายความจำเลยได้ยื่นประกันเเกนนำ กปปส.ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา โดยมีหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทวิริยะ ฉลากออมสิน เงินสด จำนวนรายละ 6 เเสนบาท โดยเมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ศาลพิเคราะห์คำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้ว อนุญาตให้ประกันตัว นายสมศักดิ์ นายคมสัน นายสาวิทย์ นายสุริยะใส นายสำราญ นายอมร โดยตีราคาประกันรายละ 6 แสนบาท
ส่วนนายสุเทพ นายชุมพล นายพุทธิพงษ์ นายอิสสระ นายถาวร นายณัฏฐพล นายสุวิทย์ เรือตรีแซมดิน ศาลอาญาเห็นควรให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ทำให้นายสุเทพ กับพวกรวม 8 ราย ต้องถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์
ในจำนวนนี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยจำนวน 12 ราย
เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 6 ราย มีกรณีศาลพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญา จำนวน 12 ราย
จำหน่ายคดี 1 ราย เนื่องจากเสียชีวิต ได้แก่ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
ส.ส.กปปส. ถูกจับเข้าคุก หลุดสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ส.ส.และไม่ให้ประกันตัว ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร นายอิสสระ สมชัย ส.ส. บัญชีรายขื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่า เมื่อไม่ได้ประกันตัวสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ก็ต้องหมดไป ขั้นตอนหลังจากนี้อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เหมือนกรณีของนายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแกน พรรคเพื่อไทย ที่โดนคดีอาญาจ้างวานฆ่า จากนั้นกกต.จะเป็นผู้วินิจฉัยและดำเนินการขณะที่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามกฎหมาย
นายชวน ยังเปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ขอตัว ส.ส.ไปสอบสวน 2 คน หนึ่งนั่นนั่นคือน.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไปดำเนินคดีกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแล้ว ซึ่งช่วงระหว่างนี้ใกล้ปิดสมัยประชุมแล้วจึงบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมไม่ทัน แต่หลังจากนี้ เมื่อปิดสมัยประชุมแล้ว ส.ส.ก็จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ตำรวจสามารถเรียกไปสอบสวนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาฯ
นายชวน ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ว่า ตอนนี้ยืดเยื้อมาก สมาชิกอภิปรายหลักการมากกว่าการแปรญัตติ วันนี้(25 ก.พ.)จึงจะขอร้องให้สมาชิกอภิปรายอยู่ในกรอบ เมื่อวานนี้(24 ก.พ.)เสียเวลาไปกับการพิจารณาการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)ส.ส.ร.) วันนี้อาจจะเร็วขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ ส.ส.หากมีความประสงค์จะให้รัฐธรรมนูญออกมาได้ต้องช่วยกัน ไม่ใช่ประวิงเวลา ซึ่งหากวันนี้ไม่เสร็จ ก็ต้องหารือกันว่าจะจะขยายการพิจารณาพรุ่งนี้ได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวไม่มีปัญหา