กรมอนามัย แนะสถานกักกันตัวทางเลือก เข้มจัดการสิ่งแวดล้อม
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ สถานประกอบการธุรกิจโรงแรม หรือสถานที่ที่รัฐกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน (Alternative State Quarantine) จัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการควบคุม โรคโควิด-19
วันนี้ (3 มีนาคม 2564) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานตรวจเยี่ยมประเมินบูรณาการโรงแรมที่เป็นสถานกักตัวแห่งรัฐแบบทางเลือก (Alternative State Quarantine) ณ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นสถานที่กักกัน รับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติและไม่มีอาการที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 (Patient under investigation) เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามหลักเกณฑ์แนวทางที่รัฐกำหนด
ก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ทาง คือ การป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 และ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงแรม โดยขอให้มีมาตรการคุมเข้มตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่ควรมีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ โดยจัดห้องพักขยะแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน โครงสร้างแข็งแรง มีอากาศถ่ายเท ได้สะดวก ห้องพักขยะต้องมิดชิดป้องกันไม่ให้สัตว์พาหะเข้าออก มีป้ายหน้าห้องแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อ ภาชนะบรรจุมูลฝอยติดเชื้อปิดมิดชิด และต้องกำหนดเส้นทางและเวลาในการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อ ส่วนระบบการบำบัดน้ำเสียต้องได้มาตรฐาน มีระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน และมีเอกสารตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกทุกเดือนแสดงเอกสารหลักฐานย้อนหลังอย่างน้อย 3 เดือน นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงาน
สำหรับผู้กักกันขอให้ความร่วมมือในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่ห้องพัก และการสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์ หรือ Video call พร้อมบันทึกข้อมูลสุขภาพเป็นประจำทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่โรงแรม หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ให้ผู้กักกันออกมาใช้พื้นที่ส่วนกลางที่ไม่ได้กำหนดไว้ หลังจากเข้าห้องพักเพื่อกักตนเองแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน แต่โรงแรมที่เป็นสถานกักตัวแห่งรัฐแบบทางเลือก (Alternative State Quarantine) จะสามารถออกมา relaxing zone ได้บางเวลา แต่จำกัดสถานที่ ส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร จะไม่อนุญาตให้สามารถออกจากห้องพัก และห้ามมิให้ผู้ที่ ถูกกักกันมีการบ้วนน้ำลาย เสมหะ สั่งน้ำมูก ลงบนพื้นห้องหรือพื้นที่ส่วนกลาง
"ขยะทุกชิ้นเป็นขยะติดเชื้อ การจัดการขยะติดเชื้อให้ใส่ในถุงขยะสีแดง พับปากถุงลง และมัดปากถุงให้แน่น วางไว้บริเวณหน้าห้องพักตาม เวลาที่ที่พักกำหนด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และห้ามเสพของมึนเมาในพื้นที่ของสถานดูแลผู้กักกัน และไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น รวมถึงครอบครัว หรือญาติของผู้กักกันเข้ามาในพื้นที่กักกัน ที่สำคัญ โรงแรมต้องแจ้งข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงตารางเวลา และวิธีการทำความสะอาดห้องพัก การใช้บริการซักรีดและการบริการอาหารของที่พักการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อให้ผู้กักกันรับทราบและปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามข้อกำหนดของที่พัก เมื่อผู้กักกันได้รับการดูแลรักษาและควบคุมโรคในสถานที่ควบคุม ครบ 14 วัน จะได้รับหนังสือรับรองเพื่อแสดงแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว