10 เมนูอาหารต้องระวังช่วงหน้าร้อน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน 10 เมนูอาหารที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อาหารบูดเสียง่าย แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”เลี่ยงสุกๆดิบๆ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง
จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่ปี 2561-2563 รวมจำนวน 1,342,975 ราย 1,189,659 ราย และ 915,289 ราย ตามลำดับ จากสถานการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นผลมาจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือบ่อยๆ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด การสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.จ่อม/ก้อย/ลาบดิบ 2.อาหารประเภทยำ 3.อาหารทะเล 4.ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.ขนมจีน 6.สลัดผัก 7.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ 8.ส้มตำ 9.ข้าวมันไก่ และ 10.น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทาน โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว
และรับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรรับประทาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สดสะอาด บริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากพืชและสัตว์ที่มีพิษหรือไม่รู้จัก ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว เมื่อรับประทานร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422