ดร.ซุป ชี้ ไทยต้องปรับตัวหลังโควิด-19  เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ

ดร.ซุป ชี้ ไทยต้องปรับตัวหลังโควิด-19  เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ

“ศุภชัย พาณิชภักดิ์ “วิเคราะห์เศรษฐกิจหลังโควิด19  ชี้รัฐบาลเดินมาถูกทาง พยุงเศรษฐกิจ หลังโดนพิษโควิด19  คาดเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แนะรัฐบาลปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ พร้อมเร่งผลิตคนให้ตรงต่อความต้องการ

นายศุภชัย  พาณิชภักด์  อดีตเลขาธิการอังค์ถัดและอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก “เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ว่า การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ล้านคน และติดเชื้ออีก 100 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการพัฒนาระบบสาธารสุขและเศรษฐกิจที่ดีที่สุดอย่างสหรัฐและยุโรปที่จำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจำนวนมาก  ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป แต่กลับมีผู้ติดเชื้อและมีอัตราการตายที่น้อยกว่า เป็นเพราะคนไทยทำงานเรื่องนี้อย่างทุ่มเท มีอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้าถึงทุกหมู่บ้าน แม้ว่าวันนี้ยังมีการติดเชื้ออยู่ก็อยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่ดี เพราะขณะนี้เริ่มมีวัคซีนแล้ว

             

ในด้านเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขของรัฐบาลทั้งการลดดอกเบี้ย  ยืดอายุหนี้  ช่วยลูกหนี้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นที่จะหนี้เสีย แม้หลายคนตั้งคำถามและไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก ซึ่งตนไม่เชื่อเพราะตัวเลข ปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กำหนดเพดานไว้ไม่ต่ำ 11% แต่สถาบันการเงินไทยการกันสัดส่วนนี้ไว้มากถึง 19-20% เช่นเดียวกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีสะสมอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2540 ที่มีอยู่เพียง 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่านั้น ถือว่าเรามีความแข็งแกร่งทางการเงิน นอกจากนี้ในเรื่องของอัตราการว่างงานแม้จะใกล้แตะ 2 %  หรือประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี  ก็ยังอยู่ในกรอบที่สามารถดูแลได้เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลก

ที่ผ่านมารัฐบาลอัดฉีดงบประมาณลงไปช่วยผ่านมาตรการต่างๆเพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่ได้ ป้องกันการว่างงาน ซึ่งถือว่ารัฐบาลทำได้ดีเกินคาด  อย่างไรก็ตามตนคาดว่าเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปจะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ก็ไม่ราบรื่นมากนัก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ คงต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปีหลังจากที่ทุกคนทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนแล้ว อย่าให้มองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงไปกว่าเดิม บางทีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีทั้งขาขึ้นและขาลง แต่ก็คงไม่ดีเหมือนเดิมและก็คงไม่หนักเหมือนเดิมเช่นกัน ดังนั้นอย่าไปตื่นตระหนก ที่ผ่านมา

ในส่วนของหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการการกู้เงิน ตนเห็นใจรัฐบาลซึ่งไม่เฉพาะรัฐบาลไทยแต่ทุกรัฐบาลทั่วโลกถูกโจมตีเรื่องนี้ ว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ แต่ก็คงไม่มีประเทศไหนที่ไม่กู้เงินเพื่อมาช่วยเหลือประชาชนในประเทศจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด เพราะการกู้เงินก็เพื่อความอยู่รอด  ขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยขณะนี้หนี้สาธารณะเราอยู่ที่ 50-60 % ของจีดีพี ซึ่งก็อยู่ในตัวเลขที่ยังบริหารหนี้ได้  โดยรัฐบาลใช้เงินกู้ในมาตรการต่างๆอย่างเหมาะสมไม่ใช่กู้มาแล้วเร่งรีบใช้เงินกู้จนหมดในเวลาที่รวดเร็ว แต่ก็ยังเห็นว่า บางอย่างกก็ควรใช้เงินให้หมด เช่น เงินกู้ซอฟโลนก็ควรใช้หมดเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี  รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า  อย่างไรก็ตามทั่วโลกก็มีความกังวลเรื่องหนี้ทั่วโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลกด้านเศรษฐกิจมาเป็นด้านพยาบาลที่ต้องบริหารจัดการโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 การมีวัคซีน การรักษาพยาบาล

             

 

นายศุภชัย   กล่าวว่า ทางสภาพัฒน์ฯได้วิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทย ว่า มีปัจจัย 9 ข้อ คือ 1.การควบคุมโควิด-19  อย่างเคร่งครัด 2.การเมืองมีเสถียรภาพ 3.มาตรการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวต้องมีการปรับจากการเน้นรายได้มาเป็นการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  4.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5.เร่งรัดการใช้งบประมาณภาครัฐ ทั้งโครงการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐาน   6.เร่งรัดให้เอกชนลงทุน 7.เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว 8.เตรียมความพร้อมด้านการเกษตรที่ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าว  เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และหากว่าเราต้องไปเจรจาซีพีทีพีพี เราต้องปรับในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างนวัตกรรมทางเกษตร และ9.การรับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยทั้ง 9  ข้อนี้มี ประเด็นที่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากและต้องเร่งดำเนินการคือ เร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่  "เศรษฐกิจชีวภาพ" หรือ Bio Economy   การปรับโครงสร้างด้านการศึกษาเพื่อผลิตคนให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ทั้งทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ   เช่น ด้านดิจิทัล   เทคโนโลยี  เป็นต้น  ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนและเอสเอ็มอี

“ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ยังมีต่อเนื่องตราบใดที่โควิด-19 ยังมีอยู่ แม้ว่าเรามีวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนก็ยังไม่คลอบคลุมประชากรทั่วโลก เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสของการกลับมาระบาดอีกก็มีความเป็นไปได้  ถ้าจะให้ปลอดภัยจริงก็ต้องมีการฉีดวัคซีนได้ทั่วโลก”