"แรงงานไทยในซาอุฯ" ใช้ “นาญิซ (Najiz)”แจ้งร้องเรียน
“นาญิซ (Najiz)”เป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดให้แรงงานไทยในซาอุดิอาระเบีย ใช้บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ บริการรับเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ หรือ “นาญิซ (Najiz)” ซึ่งเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนในการดำเนินเรื่อง โดยรับเรื่องร้องเรียน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อร้องเรียนที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานซาอุดีอาระเบีย2) ข้อร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัว 3) ข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม(GOSI) เช่น การลงทะเบียน เงินชดเชยต่างๆ ทั้งฝั่งนายจ้างและแรงงาน
สำหรับการใช้บริการแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้ง 3 ประเภทมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1.กรณีร้องเรียนภายใต้กฎหมายแรงงานนั้น แรงงานหรือนายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานแรงงานในเขตมณฑลที่ตั้งเพื่อดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยในชั้นต้นก่อน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ภายในระยะเวลา 21 วัน จึงสามารถจะร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
2.กรณีร้องเรียนของแรงงานที่ทำงานอยู่ในบ้าน เช่น แม่บ้าน คนขับรถส่วนตัวและอื่นๆ นั้นให้แรงงานหรือนายจ้างยื่นข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับแรงงานภายในบ้าน ซึ่งการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นมีระยะเวลา 5 วัน หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้คณะกรรมการฯ มีเวลา 10 วันในการออกคำตัดสิน หากคำตัดสินเป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ฝ่ายนั้นๆ มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสินโดยยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
3.สำหรับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับประกันสังคม (GOSI) นั้นมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้ 1) แรงงานหรือนายจ้างยื่นคำร้องไปยังองค์การประกันสังคม 2) หากผลการตัดสินไม่เป็นที่พอใจให้อุทธรณ์ไปยังหน่วยรับเรื่องอุทธรณ์เฉพาะขององค์การประกันสังคม 3) หากผลการอุทธรณ์ยังคงเป็นที่ไม่น่าพอใจจึงยื่นร้องเรียนโดยตรงผ่านเว็บไซต์นาญิซ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว ยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถเดินทางได้ 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานในต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง โดยแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทุกประเทศและทุกวิธีการเดินทางในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องลงนามในหนังสือรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจัดทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
“สำหรับผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 “อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว