ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอนำเข้าวัคซีนโควิด-19 'Sputnik V' เพื่อการวิจัย-ใช้แบบฉุกเฉิน
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หารือรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขประเด็นความร่วมมือ RDIF ของรัสเซียเพื่อนำเข้าวัคซีนโควิด-19 "Sputnik V" เพื่อการวิจัยและใช้แบบฉุกเฉิน เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงวัคซีนหลากหลายขึ้น
วันที่ 11 มี.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าพบเพื่อหารือด้านความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund: RDIF) ณ ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายพลพีร์ สุวรรณฉลี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(ฝ่ายการเมือง) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมหารือด้วย
สำหรับประเด็นการหารือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมมือกับ Gamaleya Research Institute of Epidemiology and Microbiology, RDIF ของรัสเซียซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Sputnik V ใน 3 ประเด็นประกอบด้วย การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 Sputnik V เพื่อการวิจัยและการใช้แบบฉุกเฉิน (Emergency Use), ความร่วมมือ ในการศึกษาและวิจัยทางคลินิก Sputnik Lite(Sputnik26) และความร่วมมือในการจัดทำ Travelling Vaccine Passport
สำหรับ การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 "Sputnik V" เพื่อการวิจัยและการใช้แบบ Emergency Use จะดำเนินการโดยบริษัทจุฬารัตน์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้นำเข้าและยื่นขออนุญาตจาก อย.
“รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ศึกษาวัคซีนโควิด-19 ได้หลากหลายขึ้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็เปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อยู่แล้ว เพียงแต่ดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขและและขั้นตอนทางเอกสารที่ครบถ้วน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ RDIF เป็นองค์กรในสังกัดรัฐบาลรัสเซียที่นอกจากจะเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัสเซีย ที่ร่วมกับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศในสินทรัพย์ของรัสเซียแล้ว ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 RDIF ได้มีบทบาทในหารให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัสเซีย หรือโครงการ Sputnik V