"จรัญ" ชี้ "รัฐสภา" เดินหน้าโหวตวาระสามได้ แต่แนะนำ ควรชะลอเพื่อทำประชามติก่อน

"จรัญ" ชี้ "รัฐสภา" เดินหน้าโหวตวาระสามได้ แต่แนะนำ ควรชะลอเพื่อทำประชามติก่อน

อดีตตุลการศาลรัฐธรรมนูญ บอก รัฐสภาไม่ผิดหากลงมติวาระสาม แต่เชื่อว่า รัฐสภาจะคว่ำ เหตุไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง แนะนำให้ชะลอโหวต เพื่อทำประชามติก่อน

      นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการสนาม101 ต่อการพิจารณาของรัฐสภา ในการลงมติวาระสามของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17 มีนาคม ที่ขณะนี้สมาชิกรัฐสภายังมีความเห็นแย้งต่อการเดินหน้าในวาระดังกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ห้ามรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐสภาจึงเดินหน้าลงมติดังกล่าวได้ แต่ในความเป็นในการลงมติดังกล่าว ตนเชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับเสียงข้างมาก ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ทำมาเกือบ 2 ปีตกไป เพราะมีแนวโน้มสูงจะถูกคว่ำ เพราะสมาชิกรัฐสภาที่เป็นกลางๆ ไม่ต้องการให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งของสถาบันหลัก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐสภาควรชะลอการลงมติวาระสาม เพื่อให้มีกระบวนการทำประชามติถามประชาชนก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาทำประชามติ 60 - 90 วันตามระยะเวลาที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ที่รัฐสภาเตรียมพิจารณาวาระสองและวาระสาม วันที่ 17 - 18 มีนาคม นี้กำหนดไว้

      “การลงมติของรัฐสภาไม่มีความรับผิดอะไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามอะไร สภาฯ ทำเพราะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลจะไปแทรกแซง หรือตรวจสอบแบบไม่มีกฎหมายให้อำนาจไม่ได้ เหมือนกับการพิจารณาคดีของศาล รัฐสภาจะก้าวก่ายไม่ได้ เพราะเป็นหลักการการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมมั่นใจรัฐสภาไทยว่า มีผู้ใหญ่มองประโยชน์ประเทศเป็นหลัก แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย ผมมั่นใจว่า วันที่ 17 มีนาคมนี้ รัฐสภาไทยจะมีมติเลื่อนวาระสาม เพื่อทำประชามติก่อน” นายจรัญ กล่าว

      นายจรัญ กล่าวด้วยว่าหลักวิชาของกฎหมายมหาชน กิจกรรมที่อยู่ในกระบวนการ เป็นเรื่องภายใน แต่ทำไม่เสร็จ ไม่ได้ประกาศ ยังไม่ได้ทำ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นวาระแรกและวาระสอง เป็นเรื่องภายในของรัฐสภา ยังไม่ได้แก้เนื้อหา จึงไม่ผิดไปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าหากสิ่งที่รัฐสภาทำได้สำเร็จ จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก และจะไม่นำไปสู่การล้มล้าง หรือเข้าสู่วงจรอุบาทว์

      “หลักใหญ่ที่ผมมอง หากทำแบบศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ คือ ทำประชามติก่อนทำ และประชาชนรับรองว่าทำ และเดินหน้าต่อวาระสาม จากนั้นทำตามเนื้อหาที่แก้ไข และนำไปถามประชามติประชาชนอีกครั้ง ว่าสิ่งที่แก้ไขใหม่นั้นเอาหรือไม่ หากทำพิสดาร ประชาชนอาจจะไม่เอาก็ได้ ดังนั้นการทำประชามติแบบนี้จะยั่งยืน เหนียวแน่น เสียเวลาเพิ่มขึ้น 6- 8 เดือน แต่ได้ของคุณภาพ” นายจรัญ กล่าว

      อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่าสำหรับคำถามประชามติ ควร ถามอย่างเดียวว่า จะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงวาระสอง โดยมีกระบวนการโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวเมื่อผ่านประชามติแล้ว รัฐสภาสามารถลงมติวาระสาม และเข้าสู่กระบวนการที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ

      “สำหรับคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าออกแล้วตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังรอการตรวจสอบ กลั่นกรอง 3 - 7 วัน เพื่อไม่ให้กระทบใจใคร อีกทั้งต้องเขียนให้ดี เพื่อไม่ให้ทักท้วงว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ผมมั่นใจทีมงานฝ่ายวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีความสามารถและจะออกมาได้ไม่ช้า” นายจรัญ กล่าว.