ชป.โคราช ชี้อ่างมีน้ำมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า ไร้ปัญหาภัยแล้งแน่
ชลประทานโคราช เผยปีนี้อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ มีน้ำมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า ไร้ปัญหาภัยแล้งแน่นอน
วันนี้ (15 มีนาคม 2564) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้ถือว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้วมาก จึงไม่น่าจะเป็นห่วงอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564 ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 281.432 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 89.49 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร,
2.อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 117.324 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76.16 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร,
3.อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำอยู่ 111.128 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83.78 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ 4.อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำอยู่ 186.740 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67.91 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาพรวมปีนี้ทั้ง 4 อ่างเก็บน้ำนี้ มีปริมาณน้ำรวม 704.344 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79.54 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 885.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีปริมาณน้ำร่วมเพียง 222.615 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25.14 ขอความจุกักเก็บเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีน้ำมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า ดังนั้นจึงถือว่ามีน้ำเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน
นายกิติกุลฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 32 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้แบ่งการบริหารจัดการน้ำไว้ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในเขตของชลประทาน ซึ่งปกติจะมีเกษตรกรทำนาปรังกันเป็นจำนวนมาก ทางชลประทานฯ ก็จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ประชุมเพื่อประเมินและวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน ส่วนน้ำสำหรับทำการเกษตร และนำสำหรับรักษาระบบนิเวศ เป็นเรื่องรองลงมาตามลำดับ
ส่วนที่ 2 พื้นที่นอกเขตชลประทาน เช่น อ.บัวใหญ่ อ.ประทาย อ.ขามสะแกแสง เป็นต้น ซึ่งไม่มีคลองชลประทานให้บริการไปถึง ก็จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ที่มีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ร่วมกับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อวางแผนช่วยเหลือแก้ปัญหาภัยแล้ง
ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ ทำการสแกนชุมชน หมู่บ้านต่างๆ ที่เคยประสบกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เบื้องต้นก็จะให้มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เก็บไว้ในสระน้ำ หรือแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อเป็นน้ำดิบสำหรับทำใช้ทำประปาหมู่บ้าน และหากพบว่าพื้นที่ใดเดือดร้อน ไม่มีน้ำใช้ ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป