เอ็มไอ ชี้ธุรกิจโฆษณาพ้นจุดต่ำสุด แบรนด์เทเงินสะพัด แห่ทำตลาด 1,300 แคมเปญ
นับเป็นข่าวดี สำหรับแวดวงสื่อและอุตสาหกรรมโฆษณา ที่กำลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากเม็ดเงินที่เคยสะพัด “แสนล้านบาท” ในอดีต ถูกดิสรัปจากเศรษฐกิจที่ถดถอย ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน กระทั่งปี 2563 โรคโควิด-19 ระบาด ฉุดเงินโฆษณาให้ “ติดลบ” รุนแรง
ปัจจัยบ่งชี้อุตสาหกรรมโฆณาเริ่มเชิดหัวขึ้น ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัดหรือเอ็มไอ ได้หยิบข้อมูลของลูกค้าแบรนด์และสินค้าบริการต่างๆ โหมแคมเปญการตลาดใหม่ๆเดือนมีนาคมแตะ 1,300 แคมเปญ เพิ่มขึ้น 7% โดยแบรนด์เก่าและแบรนด์ใหม่ตบเท้าเทเงินโฆษณากันมากแตะ 32 แบรนด์ เพิ่มขึ้น 18% จาก 27 แบรนด์
ทั้งนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมี 1,220 แคมเปญ ที่โควิดเริ่มเล่นงานธุรกิจปลายเดือน ขณะที่สถานการณ์ปี 2561-2562 จำนวนแคมเปญการตลาดต้อนรับซัมเมอร์มีถึง 1,400-1,500 แคมเปญ
สำหรับหมวดที่ใช้จ่ายเงินกันคึกคักได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ น้ำผสมวิตามิน ฯ โดยมีการยึดหน้าจอโทรทัศน์ สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เช่น ถั่งเช่า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อีกแนวโน้มที่ส่งสัญญาณใช้จ่ายเงินโฆษณาคือรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ทั้งจากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2021 รถยนต์ไฟฟ้าจากแดนมังกรของค่ายเกรทวอลล์ มอเตอร์ ซึ่งจะเขย่าวงการรถยนต์ และค่ายญี่ปุ่น ยุโรป แม้กระทั่งเอ็มจี ต่างต้องหาทางปกป้องตลาดของตัวเองอย่างเหนียวแน่น
“เราเห็นสัญญาณบวกของอุตสาหกรรมโฆษณาในเดือนมีนาคม ที่มีแบรนด์เก่าและใหม่ลุยทำแคมเปญการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แบรนด์ไม่ตื่นตระหนกกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ เพราะเริ่มคุ้นชินกับสถานการณ์และรับรู้ว่าต้องเผชิญหน้ากับไวรัสค่อนข้างนาน”
สำหรับภาพรวมธุรกิจโฆษณา 2 เดือนแรก มีมูลค่า 11,546 ล้านบาท หดตัว 7.8% หรือคิดเป็นเม็ดเงินหายไปจากตลาด 973 ล้านบาท โดยทุกสื่อได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ช่วงปลายปีทำให้ชะลอการใช้เงิน แต่คาดการณ์ทั้งปีคาดว่าเม็ดเงินจะสะพัด 79,619 ล้านบาท เติบโตได้ 5-10%
ทั้งนี้ 3 สื่อที่ทรงพลังและลูกค้ายอมควักเงินเพื่อโฆษณา ยังคงเป็น “ทีวี อินเตอร์เน็ต และสื่อนอกบ้าน” ส่วนสื่อที่น่าเป็นห่วงจะฟื้นตัวได้ยากคือ “สื่อสิ่งพิมพ์” ด้านวิทยุ จะกลายเป็นสื่อทำตลาดเฉพาะกลุ่มที่เจาะคนเมือง ขับรถ ขณะที่สื่อในโรงภาพยนตร์ยังต้องขึ้นกับ “หน้าหนัง” หรือหนังฟอร์มยักษ์ที่จะเข้าฉาย
“ตอนนี้ 3 สื่อหลัก ทีวี อินเตอร์เน็ต และสื่อนอกบ้านจะอยู่ในแผนการซื้อสื่อของลูกค้าลูกค้า เหตุผลการเลือกใช้สื่อในการสื่อสารการตลาดหรือโฆษณาจะต้องสร้างยอดขาย หรือเป็น Performance Media อย่างทีวีสร้างยอดขายได้ เห็นจากการโฆษณาถั่งเช่า คอลลาเจนต่างๆที่ยึดเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ออนไลน์ชัดเจนว่าช่วยสร้างการรับรู้สินค้าแต่ยังทำให้เกิดการสั่งซื้อได้ด้วย โดยเวลานี้การสร้างแบรนด์ทำให้เท่ ดูดียังคงน้อยลง”
แม้แบรนด์เริ่มใช้จ่ายเงินโฆษณามากขึ้น หลังอั้นไป 2 เดือนแรก การทำให้ตลาดกลับไปอู้ฟู่เหมือนปี 2561-62 ยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี จึงจะเข้าสู่โหมดปกติ เนื่องจากความเปราะบางด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นตัวแปร คนตกงาน ว่างงานมหาศาล ทำให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ปั๊มจีดีพี เมื่อยังไมกลับมาไทย แบรนด์จึงต้องคิดให้ถ้วนถี่ก่อนลงทุน
ภวัต กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมสื่อ คือการกลับมาของกรรมกรข่าว “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” จะทำให้สังเวียน “รายการข่าว” ขับเคี่ยวกันมากขึ้น ขณะที่เอเยนซีมีการขานรับในเชิงบวกถึงการหวนสู่ทีวีอีกครั้ง แต่ที่ต้องติดตามคือ หาก “สรยุทธ” มาทำหน้าที่เล่าข่าวเช้าเช่นเดิม จะมีคนดูมากน้อยแค่ไหน โกยเรทติ้งได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ธุรกิจ พฤติกรรมการบริโภค การเสพสื่อ แพลตฟอร์มต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก