มาได้ไง! ครม.ตั้ง ‘อมร มีมะโน’ ผู้ถูกคดีปั่น ‘หุ้น AJD’ เป็นข้าราชการการเมือง
เผย ครม.มีมติแต่งตั้ง “อมร มีมะโน” ผู้ถูกก.ล.ต.กล่าวโทษคดีปั่นหุ้น AJD พร้อมพวก 40 ราย และสั่งปรับกว่า 1.7 พันล้าน เข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายอมร มีมะโน 2. นายภูวิช ปัญญาสิทธิ์ และ 3. นายสมชาย สาโรวาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การแต่งตั้งดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจแก่คนในวงการตลาดทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ นายอมร มีมะโน ในอดีตเคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวโทษพร้อมพวก 40 ราย ในคดีสร้างราคาหุ้น AJD และให้ชำระค่าปรับรวมกันกว่า 1,700 ล้านบาท
ทั้งนี้นายอมร เป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA ส่วนนายภูวิช เป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ โปลิสนิวส์ และเคยเป็นกรรมการตรวจสอบ AJA
เปิดพฤติกรรมปั่นหุ้น ร่วมพวกลากราคา 2.6 บาทเป็น 15 บาท
โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 ก.ล.ต.ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 40 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น AJD โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 1,727.38 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 หุ้น AJD มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด โดยราคาปิดเพิ่มสูงขึ้นจากหุ้นละ 2.60 บาท เป็นราคา 15.00 บาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากนายอมร มีมะโน และพวกรวม 40 รายร่วมกัน สร้างราคาหุ้น AJD
ก.ล.ต.ระบุว่านายอมรและพวก มีการแบ่งหน้าที่กัน มีพฤติกรรมปิดบังอำพรางเพื่อมิให้ตรวจพบการกระทำความผิด ด้วยการจัดหาและใช้บัญชีหลักทรัพย์ของตนเองและของผู้กระทำความผิดอื่นรวม 37 บัญชี สลับกันเข้าซื้อขายหุ้น AJD ในลักษณะอำพรางให้บุคคลอื่นหลงผิดเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้น AJD และในลักษณะต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน กว่า 100 วันทำการ ทำให้สภาพการซื้อขายหุ้น AJD ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าซื้อหรือขายตาม
นอกจากนี้นายอมร ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของ AJD มีการให้ข่าวเชิงบวก เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของหุ้น AJD ต่อผู้ลงทุนทั่วไปในช่วงของการสร้างราคา อีกทั้งมีพฤติกรรมปกปิดแหล่งที่มาที่ไปของเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น AJD โดยแบ่งหน้าที่ให้ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นภรรยา ญาติพี่น้อง และพนักงาน ช่วยเหลือในการจัดการฝากถอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น AJD ของบัญชีหลักทรัพย์ภายในแต่ละกลุ่ม
สั่งปรับ 1.7 พันล้าน
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) จึงมีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 40รายโดยกำหนดให้นายอมรและพวกรวม 8 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 79,425,732 บาท ส่วนที่เหลือชำระลดหลั่นกันไป รวมค่าปรับที่ต้องชำระทั้งสิ้น 1,727.38 ล้านบาท
ก.ล.ต.ระบุว่า หากผู้กระทำความผิดทั้ง 40 ราย ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด
การที่ค.ม.พ.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 40 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 40 ราย เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการต่อไป
"อมร"เพิกเฉย ก.ล.ต.ฟ้องแพ่งเรียก 2.3 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่งให้ชำระค่าปรับแก่บุคคลทั้ง 40 รายแล้ว ปรากฎว่า ทั้ง 40 รายเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ก.ล.ต.ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการดำเนินการกล่าวโทษบุคคลทั้ง 40 รายต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย รวม 2,303,065,651 บาท
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 เพื่อพิจารณาดำเนินการต่ออีกด้วย