‘เมียนมา’ จ่อทะลักไทย - อินเดีย หนีตายกองทัพปราบผู้ประท้วง

‘เมียนมา’ จ่อทะลักไทย - อินเดีย หนีตายกองทัพปราบผู้ประท้วง

"กองกำลังรักษาความมั่นคง" เดินหน้าใช้กำลังรุนแรงมากขึ้นเข้าสลายผู้ประท้วงเมียนมา ประชาชนในเมืองพากันอพยพไปตามชายแดนเมียนมา รอโอกาสสบช่องหนีทะลักเข้าไทย และอินเดีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงขึ้นเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเมียนมา ที่สนับสนุนนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งขณะนี้ยังถูกควบคุมตัว แต่การใช้กำลังกวาดล้างประชาชน ไม่ได้ทำให้การเคลื่อนไหวประท้วงหยุดชะงักลง กลับกระตุ้นให้ประชาชนออกมาชุมนุมอีกครั้งตามเมืองต่างๆ 

สื่อมวลชนผู้เห็นเหตุการณ์รายงานว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ผู้ประท้วงเมียนมาต้านรัฐประหารที่ชุมนุมอยู่ใจกลางเมืองอองบัน และหลังจากนั้นได้เปิดฉากยิงปืนเข้าใส่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

เสียงปืนดังขึ้นกลางเมืองอองบาน ซึ่งเป็นเมืองการค้าที่สำคัญในรัฐฉานตอนใต้ของประเทศ!

"กองกำลังรักษาความมั่นคงเข้ามารื้อสิ่งกีดขวางที่ผู้ชุมนุมได้สร้างขึ้น แต่ผู้ประท้วงไม่ยอม ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนยิงใส่ประชาชน" ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามเล่าผ่านทางโทรศัพท์ โดยระบุว่า เขาเห็นผู้ประท้วงรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต แต่เหมือนว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น ซึ่งทางเฟซบุ๊คของ The Kanbawza Tai news portal รายงานว่า เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 6 คน 

ก่อนหน้านี้ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) รายงานว่า มีผู้ประท้วงชาวเมียนมาเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 224 คน

ส่วนการชุมนุมในนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้ประชาชนเมียนมาช่วยกันเก็บรื้อสิ่งกีดขวางที่ผู้ประท้วงสร้างขึ้น ขณะที่ผู้ประท้วงเมียนมายังคงเคลื่อนไหวชุมนุมในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ รวมถึงเมืองมยีนชาน กะตา และทางตะวันออกของเมืองเมียวดี 

เจ้าหน้าที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง เปิดเผยว่า มีชาวเมียนมาหลายร้อยคนต้องหลบหนีออกจากเมืองต่างๆ นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหาร โดยชาวเมียนมาเหล่านี้ได้หลบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองกำลังของชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนไทย เช่นเดียวกับพื้นที่ทางภาคตะวันตกของเมียนมา มีประชาชนจำนวนหนึ่งพยายามหลบหนีจากเมียนมาข้ามชายแดนไปยังอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ประเทศตะวันตกต่างพากันประณามกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง พร้อมให้ปล่อยตัวนางซูจี ส่วนเพื่อนบ้านในอาเซียนต่างเสนอที่จะช่วยหาทางแก้ปัญหา แต่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้แสดงสัญญาณการปรองดองแต่อย่างใด